บาลีวันละคำ

สัตถา อันว่าพระศาสดา (บาลีวันละคำ 2,619)

สัตถา

อันว่าพระศาสดา

สัตถา” เขียนแบบบาลีเป็น “สตฺถา” อ่านว่า สัด-ถา รูปคำเดิมเป็น “สตฺถุ” (สัด-ถุ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สาสฺ เป็น , ลบ ที่ รตฺถุ (รตฺถุ > ตฺถุ)

: สาสฺ + รตฺถุ = สาสรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สั่งสอนเวไนยตามความเหมาะสมด้วยประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์อนาคต และประโยชน์สูงสุด” (2) “ผู้สั่งสอนแนะนำสัตวโลก

(2) สชฺ (ธาตุ = สละ, ปล่อย) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (สชฺ > ) และลบ ที่ รตฺถุ

: สชฺ + รตฺถุ = สชรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สละกิเลส

(3) สิจฺ (ธาตุ = ชำระ, ราด, รด) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สิจฺ เป็น , ลบ ที่ รตฺถุ

: สิจฺ + รตฺถุ = สิจรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ชำระกิเลสด้วยน้ำคือคำสอน

(4) สุสฺ (ธาตุ = เหือดแห้ง) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สุสฺ เป็น , ลบ ที่ รตฺถุ

: สุสฺ + รตฺถุ = สุสรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังเปือกตมคือคมกิเลสให้เหือดแห้งไป

(5) สสุ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สสุ เป็น , ลบ ที่ รตฺถุ

: สสุ + รตฺถุ = สสุรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เบียดเบียนกิเลส

(6) สมฺ (ธาตุ = สงบ) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (สมฺ > ) และลบ ที่ รตฺถุ

: สมฺ + รตฺถุ = สมรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังกิเลสให้สงบระงับ

สตฺถุ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ครู, ศาสดา (teacher, master) ในคัมภีร์ ถ้าไม่มีคำระบุเป็นอย่างอื่น หมายถึงพระพุทธเจ้า

สตฺถุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “สตฺถา” นักเรียนบาลีแปลกันว่า “อันว่าพระศาสดา

อภิปราย :

สตฺถา” (สัตถา) เป็นศัพท์สามัญที่ปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งในคัมภีร์ ไม่มีนักเรียนบาลีคนไหนไม่รู้จักคำว่า “สตฺถา” นอกจากรู้จักแล้วยังแปลได้ติดปากด้วยว่า “สตฺถา อันว่าพระศาสดา

กว่าจะสอบเป็น “มหา” ได้ ทุกคนจะต้องพูดคำว่า “สตฺถา อันว่าพระศาสดา” นับเป็นพันๆ ครั้ง

ในพระไตรปิฎก มีคำว่า “สตฺถา” ที่สำคัญที่สุดอยู่แห่งหนึ่ง คือในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ในวันที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ความตอนหนึ่งว่า –

…………..

สิยา  โข  ปนานนฺท  ตุมฺหากํ  เอวมสฺส  อตีตสตฺถุกํ  ปาวจนํ  นตฺถิ  โน  สตฺถาติ,  น  โข  ปเนตํ  อานนฺท  เอวํ  ทฏฺฐพฺพํ. 

ดูก่อนอานนท์ บางที่พวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น

โย  โว  อานนฺท  มยา  ธมฺโม  จ  วินโย  จ  เทสิโต  ปญฺญตฺโต,  โส  โว  มมจฺจเยน  สตฺถา.

ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใด อันเราแสดงแล้วบัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา

ที่มา:

มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 141

…………..

ขยายความ :

คำว่า “ปาพจน์” หมายถึง พระธรรมวินัยคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นตัวพระศาสนา

คำว่า “ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว” หมายความว่า พระศาสดาผู้เป็นเจ้าของคำสอน (คือพระธรรมวินัย) บัดนี้ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว เหลือแต่คำสอน

คำว่า “พระศาสดาของพวกเราไม่มี” ขยายความว่า แม้จะยังเหลือคำสอนอยู่ แต่เมื่อตัวผู้สอนไม่มีแล้ว คำสอนนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร เหมือนกับว่าไม่มีพระศาสนาเหลืออยู่อีกแล้ว

หมายความว่า ต่อไปนี้ใครจะทำผิดทำถูกอย่างไร ก็ไม่มีใครที่จะมาคอยกวดขันชี้ผิดชี้ถูกอีกแล้ว สิ่งที่ห้ามทำ ไปทำเข้า ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาว่าอะไร สิ่งที่บอกให้ทำ แม้ไม่ทำ ใครจะมาว่าอะไรกันได้ แปลว่าใครจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็ได้ ตามสบาย

พระศาสดาได้ตรัสเตือนไว้ว่า – อย่าได้คิดอย่างนั้น

ทรงยืนยันว่า พระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้บัญญัติไว้ยังอยู่เป็น “สตฺถา” คือเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ นั่นคือพระศาสดาจะยังคงอยู่กับพระศาสนาตลอดไป-ตราบเท่าที่พระธรรมวินัยยังอยู่

พระธรรมวินัยจะยังคงอยู่ได้ก็ด้วยการที่พุทธบริษัทขวนขวายศึกษาและปฏิบัติตามมิให้ขาดตกบกพร่อง

การไม่เอาใจใส่ศึกษาพระธรรมวินัย การไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย คือการปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จึงนอกจากจะเป็นการทำร้ายองค์พระศาสดาแล้ว ยังเป็นการทำลายพระศาสนาไปด้วยพร้อมๆ กัน

คำร้องขอ :

สำหรับญาติมิตร-ในฐานะชาวพุทธด้วยกัน แม้หากท่านตั้งใจจะกางหนังสืออ่านบทสวดมนต์ตลอดชีวิตและไม่คิดจะจำคำบาลีแม้แต่คำเดียว ผู้เขียนบาลีวันละคำก็ใคร่ขอร้องให้ท่านจำคำว่า “สตฺถา อันว่าพระศาสดา” ไว้สักคำหนึ่งเถิด

คำว่า “สตฺถา อันว่าพระศาสดา” ยาวไม่กี่พยางค์ สั้นกว่าเนื้อเพลงฝรั่งที่ท่านร้องได้โดยไม่ต้องกางหนังสือร้องตั้งมากมาย

ทุกครั้งที่ท่องคำว่า “สตฺถา อันว่าพระศาสดา” ออกมาจากความจำ-ซึ่งนั่นคือออกมาจากหัวใจ (ไม่ใช่ออกมาจากหนังสือ!) จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ว่าพระศาสดาของเรามาอยู่ใกล้ๆ เรา มาอยู่กับเรา มาคอยเตือนสติเรา มาให้กำลังใจเรา ให้ละชั่ว ทำดี และทำจิตให้ผ่องใส อันเป็นหัวใจแห่งคำสอนของพระองค์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย

: คือความบรรลัยของพระศาสนา

#บาลีวันละคำ (2,619)

14-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย