บาลีวันละคำ

บรรลัย (บาลีวันละคำ 1,032)

บรรลัย

อ่านว่า บัน-ไล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า “บรรลัย” ใช้ว่า “ประลัย” ก็มี

ที่คำว่า “ประลัย” บอกไว้ว่า –

ประลัย : (คำนาม) ความตาย, ความฉิบหาย, ความป่นปี้, ความย่อยยับไป. (ส. ปฺรลย; ป. ปลย).”

“(ส. ปฺรลย; ป. ปลย)” หมายความว่า บรรลัย > ประลัย นี้ สันสกฤตเป็น “ปฺรลย” บาลีเป็น “ปลย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ อนึ่ง ความหมายของคำไทยบางคำโปรดเทียบเคียงกับคำอังกฤษเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน)

ปฺรลย : (คำนาม) ‘ประลัย,’ อวสานของกัลป, ความพินาศของโลก; มฤตยู, มรณะ; ความพินาศ; มูรฉา, การหรือความสิ้นสมฤดี; the end of Kalpa, destruction of the world; death; destruction; syncope, fainting, loss of sense or consciousness.”

ปลย” บาลีอ่านว่า ปะ-ละ-ยะ รากศัพท์มาจาก (ทั่วไป) + ลี (ธาตุ = สิ้นไป) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อี (ที่ ลี) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย

: + ลี = ปลี > ปเล > ปลย + = ปลย แปลตามศัพท์ว่า “กาลเป็นที่สิ้นไปแห่งโลก

ในตำราท่านแสดงศัพท์ที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “ปลย” ไว้อีก 3 ศัพท์ คือ :

(1) กปฺปกฺขย (กับ-ปัก-ขะ-ยะ) แปลว่า “สิ้นกัป

(2) สํวฏฺฏ (สัง-วัด-ตะ) แปลว่า “หมุนครบ

(3) ยุคนฺต (ยุ-คัน-ตะ) แปลว่า “สุดยุค

ความหมายดั้งเดิมของ ปลย > ประลัย > บรรลัย จึงหมายถึง “สิ้นโลก

บรรลัย” หมายถึง ความวอดวาย, ความสิ้นไป (dissolution)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรรลัย : (คำกริยา) ฉิบหาย, วอดวาย, ย่อยยับ, มอดม้วย, ประลัย ก็ว่า.”

สัจธรรม :

ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่บรรลัย แม้แต่โลกทั้งโลก จักรวาลทั้งจักรวาล

บรรลัยจึงเป็นสภาพที่น่ากลัว

: ถ้าตามรักษาจิตของตนไว้ได้

: แม้โลกจะบรรลัย ก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัว

16-3-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย