บาลีวันละคำ

พระธาตุ (บาลีวันละคำ 1,031)

พระธาตุ

อ่านว่า พฺระ-ทาด

ประกอบด้วย พระ + ธาตุ

(๑) “พระ

มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง)

(๒) “ธาตุ

บาลีอ่านว่า ทา-ตุ รากศัพท์มาจาก ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย อีกนัยหนึ่งว่ามาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ, ยืดเสียง อะ ที่ – เป็น อา

: ธา + ตุ = ธาตุ

: ธรฺ > + ตุ = ธตุ > ธาตุ

ธาตุ” แปลตามศัพท์ว่า –

(๑) “อวัยวะที่ทรงร่างไว้” หมายถึง กระดูก, อัฐิ

(๒) (1) “สิ่งที่คงสภาพของตนไว้” (2) “สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งมูลค่า” (3) “สิ่งที่ทรงประโยชน์ของตนไว้บ้าง ของผู้อื่นไว้บ้าง” หมายถึง ธาตุ, แร่ธาตุ

(๓) (1) “อักษรที่ทรงไว้ซึ่งเนื้อความพิเศษ” (2) “อักษรอันเหล่าบัณฑิตทรงจำกันไว้” หมายถึง รากศัพท์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ธาตุ” ไว้ดังนี้

(1) a primary element, of which the usual set comprises the four : earth, water, fire, wind (ปฐมธาตุ, คือธาตุซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ อย่าง คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม)

(2) natural condition, property, disposition; factor, item, principle, form (ภาวะตามธรรมชาติ, คุณสมบัติ, อุปนิสัย, ปัจจัย, หัวข้อ, หลัก, รูป)

(3) elements in sense-consciousness: referring to the 6 ajjhattikāni & 6 bāhirāni āyatanāni (ธาตุเกี่ยวกับความรู้สึก เกี่ยวถึงอายตนะภายใน 6 และภายนอกอีก 6)

(4) a humour or affection of the body (อารมณ์ หรืออาการของกาย)

(5) the remains of the body after cremation (ส่วนที่เหลือของร่างเมื่อเผาศพแล้ว)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ธาตุ” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) สิ่งที่ถือว่าเป็นส่วนสําคัญที่คุมกันเป็นร่างของสิ่งทั้งหลาย โดยทั่ว ๆ ไปเชื่อว่ามี ๔ ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ก็อาจมีธาตุอื่น ๆ อีก เช่น อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ธาตุไม้ ธาตุทอง ธาตุเหล็ก.

(2) กระดูกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ โดยทั่ว ๆ ไปเรียกรวม ๆ ว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระพุทธเจ้า เรียก พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระอรหันต์ เรียกว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ก็เรียกตามความหมายของคํานั้น ๆ เช่น พระอุรังคธาตุ พระทันตธาตุ, ถ้าเป็นผมของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระเกศธาตุ.

(3) ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาซึ่งว่าด้วยธาตุ เช่น ธาตุกถา ธาตุปาฐ.

(4) (ภาษาถิ่น-อีสาน) เจดีย์ที่บรรจุกระดูกคนที่เผาแล้ว.

(5) สารเนื้อเดียวล้วนซึ่งประกอบด้วยบรรดาอะตอมที่มีโปรตอนจํานวนเดียวกันในนิวเคลียส.

(6) รากศัพท์ของคําบาลีสันสกฤตเป็นต้น เช่น ธาตุ มาจาก ธา ธาตุ สาวก มาจาก สุ ธาตุ กริยา มาจาก กฺฤ ธาตุ.

พระ + ธาตุ = พระธาตุ น่าจะเป็นคำผสมแบบไทย

คำว่า “พระธาตุ” ที่เข้าใจกันทั่วไปในภาษาไทย คือ กระดูกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ (ความหมายตาม พจน.54 ที่แสดงไว้ในข้อ (2) ข้างต้น) รวมไปถึงสถูปเจดีย์ที่บรรจุหรือเชื่อกันว่าบรรจุพระธาตุเหล่านั้นด้วย

ปัจจุบันนี้มีผู้เรียกกระดูกของพระสงฆ์บางรูปว่า “พระธาตุ” เป็นอย่างจะให้เข้าใจว่าท่านเป็นพระอรหันต์หรือได้สำเร็จมรรคผลชั้นใดชั้นหนึ่งตามที่ตนเชื่อ

: พระธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์

: คือพระธาตุที่ดลจิตให้ทำความดี

————–

(ตามคำขอของ Chatty lawman)

15-3-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย