บาลีวันละคำ

หิรัญญิการ์ (บาลีวันละคำ 2,036)

หิรัญญิการ์

แปลว่าอะไร

อ่านว่า หิ-รัน-ยิ-กา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หิรัญญิการ์ : (คำนาม) ชื่อไม้เถา ๒ ชนิดในสกุล Beaumontia วงศ์ Apocynaceae คือ ชนิด B. murtonii Craib, กำลังช้างสาร ก็เรียก, และชนิด B. grandiflora Wall. ดอกใหญ่ สีขาว กลิ่นหอมอ่อน ๆ ยางและเมล็ดเป็นพิษ.”

ตามไปดูที่คำว่า “กำลังช้างสาร” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

กำลังช้างสาร : (คำนาม) (๑) ดู ตานเหลือง. (๒) ดู หิรัญญิการ์.”

ตามไปดูที่คำว่า “ตานเหลือง” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

ตานเหลือง : (คำนาม) ชื่อไม้พุ่มหรือไม้ต้นชนิด Ochna integerrima (Lour.) Merr. ในวงศ์ Ochnaceae ขึ้นในป่าเบญจพรรณแล้ง เปลือกสีนํ้าตาลแก่ ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อสั้น กลิ่นหอมอ่อน ผลัดใบขณะมีดอก, กำลังช้างสาร ช้างน้าว หรือ ตานนกกด ก็เรียก.”

โปรดสังเกตว่า “หิรัญญิการ์” นั้น พจนานุกรมฯ บอกว่า “กำลังช้างสาร” ก็เรียก และที่คำว่า “ตานเหลือง” ( = “กำลังช้างสาร”) ก็บอกว่า “กำลังช้างสาร ช้างน้าว หรือ ตานนกกด” ก็เรียก แต่ไม่มีบอกว่า “หิรัญญิการ์” ก็เรียก

แสดงว่า “หิรัญญิการ์” เป็นชื่อที่เกิดใหม่

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “หิรัญญิการ์” เป็นภาษาอะไรและแปลว่าอะไร ทั้งไม่ได้บอกว่าชื่อ “หิรัญญิการ์” ได้มาอย่างไร (อาจเป็นเพราะอยู่นอกขอบเขตของพจนานุกรมฯ ก็เป็นได้)

แต่ดูตามรูปศัพท์และตามความเข้าใจของคนทั่วไป คำนี้น่าจะมาจากคำว่า “หิรญฺญ” ในภาษาบาลี

หิรญฺญ” บาลีอ่านว่า หิ-รัน-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) หรฺ (ธาตุ = แสวงหา, นำไป) + ปัจจัย, แปลง ะ ที่ -(รฺ) เป็น อิ, ซ้อน ญฺ

: หรฺ > หิร + ญฺ + = หิรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า (1) “วัตถุอันคนแสวงหากันเพราะเป็นของล้ำค่า” (2) “วัตถุที่ดึงดูดใจสัตว์โลก

(2) หา (ธาตุ = ละ, ทิ้ง, ถึง) + ญฺญ ปัจจัย, แปลง หา เป็น หิร

: หา > หิร + ญฺญ = หิรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า (1) “วัตถุที่สละประโยชน์เพื่อสัตว์โลก” (เสมือนวัตถุชนิดนั้นสละตัวเองเพื่อประโยชน์ของผู้คน) (2) “วัตถุที่ถึงความล้ำค่า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หิรญฺญ” ว่า gold, gold-piece (ทอง, ชิ้นทองหรือชิ้นเงิน)

บาลี “หิรญฺญ” สันสกฤตเป็น “หิรณฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

หิรณฺย : (คำนาม)  ‘หิรัณย์,’ ทองครรม; เงิน; มาตรา; บุรุษเรตัส, น้ำกามแห่งบุรุษ; อนัศวรพัสดุ, นิตยพัสดุ; พัสดุ; ทรัพย์, สมบัติ; gold; silver; a measure; semen; virile; an imperishable matter, an eternal matter; thing or substance; wealth, property.”

หิรญฺญ” ในภาษาไทยใช้เป็น “หิรัญ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หิรัญ, หิรัญ– : (คำนาม) เงิน, บางแห่งว่า ทอง ก็มี แต่โดยทั่วไปหมายถึง เงิน. (ป. หิรญฺญ; ส. หิรณฺย).”

ได้คำว่า “หิรัญ” แล้ว ก็ยังมีปัญหาว่า “-ญิการ์” มาจากไหน

ดูตามรูปคำแล้ว “ญิ” คงติดมาจาก “หิรญฺญ” (ญ หญิง 2 ตัว) แบบเดียวกับคำว่า “เหรัญญิก” ที่มาจาก หิรญฺญ + อิก ปัจจัย = หิรญฺญิก แล้วแผลง อิ ที่ หิ– เป็น เอหิรญฺญิก” จึงเป็น “เหรัญญิก

แต่ “หิรัญญิการ์” ไม่ได้แผลงเป็น “เหรัญญิการ์” และไม่ได้เขียนเป็น “หิรัญญิก” แต่เป็น “หิรัญญิการ์” ปัญหาคือ “-การ์” มาจากไหน

ดูตามวิธีสะกด “การ์” คำเดิมก็ต้องเป็น “การ” อ่านว่า กา-ระ ชวนให้นึกถึงชื่อ “กรรณิการ์” (กัน-นิ-กา) ลงท้าย -อิการ์ คล้ายกัน แต่ “กรรณิการ์” มีคำว่า “กณิการ” หรือ “กณฺณิการ” ในภาษาบาลีเป็นที่มาชัดเจน

แต่ในภาษาบาลียังไม่พบว่ามีศัพท์ “หิรญฺญิการ” เหมือน “กณฺณิการ” เพราะฉะนั้นก็ต้องเดาหรือ “ลากเข้าวัด” เท่าที่พอจะทำได้ นั่นคือ อาจจะมาจาก หิรญฺญ + การ

การ” (กา-ระ) ในที่นี้แปลว่า ผู้ทำ (one who does, maker)

หิรญฺญ + การ ถ้าสมาสกันตรงๆ ได้รูปเป็น หิรญฺญการ (หิ-รัน-ยะ-กา-ระ) แปลว่า “ผู้กระทำทอง” หมายถึง ช่างทอง (goldsmith) ซึ่งไม่ใช่ความหมายในที่นี้

ถ้าจะให้ได้รูปเป็น “หิรญฺญิการ” ต้องเปลี่ยนวิธีสมาสเป็น หิรญฺญ + การ ลง อิ อาคมท้ายบทหน้า (หิรญฺญ + อิ + การ)

: หิรญฺญ + อิ + การ = หิรญฺญิการ (หิ-รัน-ยิ-กา-ระ) แปลว่า “ผู้ทำ (สิ่งใดสิ่งหนึ่ง) ให้เป็นเงิน” จากนี้ก็ลากเข้าความต่อไปว่า หมายถึงต้นไม้ที่ทำดอกของตัวเองให้เป็นสีเงิน

หิรญฺญิการ” เขียนเป็นไทยว่า “หิรัญญิการ์

ที่ว่ามานี้พึงทราบเป็นการเดาทั้งสิ้น เนื่องจากเราไม่ทราบที่มาของชื่อ ดังนั้น ชื่อ “หิรัญญิการ์” จึงอยู่ในฐานะเป็นอสาธารณนาม (proper name) คือชื่อเฉพาะ จะมาจากภาษาอะไร สะกดอย่างไร อ่านอย่างไร แปลอย่างไร และมีความหมายอย่างไร ขึ้นอยู่กับเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งชื่อจะเป็นผู้กำหนด

…………..

ความในใจ:

ผู้เขียนบาลีวันละคำพยายามค้นตามแหล่งต่างๆ เท่าที่จะค้นได้ ก็ยังไม่พบว่า ชื่อนี้ใครเป็นผู้ตั้ง และต้องการจะให้แปลว่าอย่างไร ท่านผู้ใดทราบที่มา ขอได้กรุณาบอกเล่าเป็นวิทยาทานด้วย

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้นำรูปดอก “หิรัญญิการ์” ไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก ถามว่าดอกไม้ชนิดนี้ชื่อดอกอะไร มีผู้รู้จักบอกเข้ามาเป็นจำนวนมาก และบอกถูกต้องทั้งหมด แต่ไม่มีท่านผู้ใดสงสัยเลยว่า คำว่า “หิรัญญิการ์” แปลว่าอะไร

อันที่จริงควรจะกล่าวว่า ไม่มีท่านผู้ใดสนใจเลยว่า คำว่า “หิรัญญิการ์” เป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร ตลอดไปถึงว่า ชื่อ “หิรัญญิการ์” ได้มาจากไหน

แต่มีคำบอกว่า มีผู้เห็นว่าดอกไม้ชนิดนี้งามดี และชื่อนี้ก็เพราะดี จึงเอาไปตั้งเป็นชื่อลูกสาว

ผู้เขียนบาลีวันละคำสงสัยว่า ผู้ที่เอาชื่อนี้ไปตั้งเป็นชื่อลูกสาว ตลอดจนตัวลูกสาวเอง จะรู้หรือเปล่าว่า คำว่า “หิรัญญิการ์” เป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร ถามเช่นนี้อาจตอบว่า “เป็นชื่อดอกไม้” ซึ่งไม่ใช่คำตอบที่ต้องการ เพราะไม่ได้ถามว่า “หิรัญญิการ์” เป็นชื่อของอะไร แต่ถามว่าคำว่า “หิรัญญิการ์” แปลว่าอะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ดอกไม้ที่ขาย สุดท้ายก็กลายเป็นขยะ

: แต่ดอกไม้ที่ใช้บูชาพระ เป็นพาหนะไปถึงพระนฤพาน

—————-

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (2,036)

8-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย