บาลีวันละคำ

อภิชนาธิปไตย (บาลีวันละคำ 4,608)

อภิชนาธิปไตย

จะได้รู้ว่าใครใหญ่กว่าใคร

อ่านว่า อะ-พิ-ชะ-นา-ทิ-ปะ-ไต

ประกอบด้วยคำว่า อภิชน + อธิปไตย

(๑) “อภิชน” 

อ่านว่า อะ-พิ-ชน แยกศัพท์เป็น อภิ + ชน 

(ก) “อภิ” (อะ-พิ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)

(ข) “ชน” บาลีอ่านว่า ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + (อะ) ปัจจัย

: ชนฺ + = ชน แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้ 

(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก

ชน” หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)

อภิ + ชน = อภิชน แปลตามศัพท์ว่า “คนผู้ยิ่ง” หมายถึง คนที่อยู่ในฐานะยิ่งใหญ่หรือสูงกว่าคนอื่น ๆ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อภิชน, อภิชน– : (คำนาม) ชนผู้สืบมาจากตระกูลสูง. (ป., ส.).”

(๒) “อธิปไตย” 

บาลีเป็น “อาธิปเตยฺย” (อา-ทิ-ปะ-เตย-ยะ) รากศัพท์มาจาก อธิปติ + ณฺย ปัจจัย

(ก) “อธิปติ” อ่านว่า อะ-ทิ-ปะ-ติ รากศัพท์มาจาก อธิ + ปติ 

(1) “อธิ” (อะ-ทิ) เป็นคำอุปสรรค นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายไว้ว่า –

1) บอกทิศทาง, จุดหมาย = จนถึง, เหนือ, ไปยัง, บน (up to, over, toward, to, on)

2) บอกสถานที่ = บนยอด, ข้างบน, เหนือ, บน (on top of, above, over)

(2) “ปติ” (ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก –

(ก) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > )

: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา

(ข) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย

: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า

ปติ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)

(2) สามี (husband)

อธิ + ปติ = อธิปติ แปลตามศัพท์ว่า “เจ้านายผู้เป็นใหญ่

อีกนัยหนึ่ง “อธิปติ” รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + ปา (ธาตุ = รักษา, ปกครอง) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > )

: อธิ + ปา = อธิปา + ติ = อธิปาติ > อธิปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ปกครองใหญ่

อธิปติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้ปกครอง, เจ้าใหญ่ (ruler, master)

(2) ครอบครอง, ปกครอง, มีอำนาจเหนือ; อยู่ใต้อำนาจ หรือปกครองโดย- (ruling over, governing, predominant; ruled or governed by)

(ข) อธิปติ + ณฺย ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ -(ธิ) เป็น อา (อธิ > อาธิ), ลบ ณฺ ที่ ณฺย ปัจจัย, ซ้อน ยฺ ระหว่างศัพท์กับปัจจัย (-ปติ + ยฺ + ณฺย), แปลง อิ ที่ (ป)-ติ เป็น เอ (-ปติ > –ปเต)

: อธิปติ + ณฺย = อธิปติณฺย > อาธิปติณฺย > อาธิปติย > อาธิปติยฺย > อาธิปเตยฺย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้เป็นใหญ่ยิ่ง” หมายถึง อำนาจอธิปไตย, ความเป็นใหญ่, ความเป็นเอกราช, อำนาจ (supreme rule, lordship, sovereignty, power)

อาธิปเตยฺย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อธิปไตย” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิปไตย : (คำนาม) อํานาจสูงสุดของรัฐที่จะใช้บังคับบัญชาภายในอาณาเขตของตน. (ป. อธิปเตยฺย ว่า ความเป็นใหญ่ยิ่ง). (อ. sovereignty).”

อภิชน + อาธิปเตยฺย = อภิชนาธิปเตยฺย แปลว่า “ความเป็นใหญ่ของคนผู้ยิ่งใหญ่” หมายถึง คนผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจเหนือคนอื่น ๆ

อภิชนาธิปเตยฺย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อภิชนาธิปไตย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อภิชนาธิปไตย : (คำนาม) ระบอบการปกครองแบบหนึ่งที่มีอภิชนเป็นใหญ่. (ป. อภิ + ชน + อธิปเตยฺย). (อ. aristocracy).”

อภิชนาธิปไตย” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า aristocracy : 

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล aristocracy เป็นบาลีดังนี้:

(1) issarajanatā อิสฺสรชนตา (อิด-สะ-ระ-ชะ-นะ-ตา) = สถานะของคนที่เป็นใหญ่

(2) adhipatīhi pālana อธิปตีหิ ปาลน (อะ-ทิ-ปะ-ตี-หิ ปา-ละ-นะ) = การปกครองโดยคนที่เป็นใหญ่

ขยายความ :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “อภิชนาธิปไตย” (อ่านเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 เวลา 20:30 น.) อธิบายความหมายของคำว่า “อภิชนาธิปไตย” ดังนี้ –

…………..

อภิชนาธิปไตย (อังกฤษ: aristocracy) เป็นระบอบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของชนชั้นปกครองกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งมีอภิสิทธิ์ เรียกว่า กลุ่มอภิชน (aristocracy)

ในด้านศัพทมูลนั้น คำว่า “aristocracy” ในภาษาอังกฤษ มาจาก “aristokratia” ในภาษากรีก หมายถึง “การปกครองโดยผู้ที่ดีที่สุด” (rule of the best) ทั้งนี้ เพราะในเวลาที่คำนี้ถือกำเนิดขึ้นในกรีซโบราณ ชาวกรีกมองว่า “อภิชนาธิปไตย” หมายถึงการปกครองโดยพลเมืองที่มีคุณสมบัติดีที่สุด และมักใช้เปรียบเทียบว่าแตกต่างจากระบอบราชาธิปไตย (การปกครองโดยคนคนเดียว) ในลักษณะที่เห็นว่า “อภิชนาธิปไตย” ดีกว่า ผู้ใช้คำ “อภิชนาธิปไตย” เป็นคนแรก คือ แอริสตอเติล และเพลโต โดยใช้เรียกระบบที่พลเมืองกลุ่มที่ดีที่สุดได้รับเลือกผ่านกระบวนการอันถี่ถ้วนให้ขึ้นเป็นผู้ปกครอง และมีการห้ามสืบทอดตำแหน่งผ่านทางตระกูล เว้นแต่ลูกหลานของผู้ปกครองนั้นแสดงให้เห็นว่า ปฏิบัติงานได้ดีเลิศ และมีคุณลักษณะที่ดีสมจะเป็นผู้ปกครองได้เมื่อเทียบกับพลเมืองคนอื่น ๆ ในหน่วยการเมืองเดียวกัน ส่วนการปกครองที่มีการสืบทอดตำแหน่งผ่านทางตระกูลนั้น มองกันว่า เกี่ยวข้องกับระบอบคณาธิปไตยมากกว่า ซึ่งเป็นรูปแบบที่ฉ้อฉลของอภิชนาธิปไตย เพราะถึงแม้การปกครองอยู่ในมือของคณะบุคคล แต่ก็ไม่ใช่กลุ่มบุคคลที่ดีที่สุด ปรัชญาเมธีหลายคน เช่น แอริสตอเติล เพลโต โสกราตีส และเซโนโฟน เห็นว่า อภิชนาธิปไตย ซึ่งเป็นรูปแบบในอุดมคติของการปกครองโดยคนจำนวนน้อยนั้น โดยสภาพแล้วดีกว่าประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรูปแบบในอุดมคติของการปกครองโดยคนจำนวนมาก แต่ก็เห็นว่า คณาธิปไตย ซึ่งเป็นรูปแบบที่ฉ้อฉลของอภิชนาธิปไตยนั้น เลวร้ายกว่ากฎหมู่ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ฉ้อฉลของประชาธิปไตย

ในยุคปัจจุบัน “อภิชนาธิปไตย” มักใช้หมายถึง การปกครองโดยกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์ (กลุ่มอภิชน) และมักใช้เปรียบเทียบว่าแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ระบอบการปกครองใด ๆ ก็ไร้ผล

: ถ้าไม่สร้างคนที่รู้จักปกครองตนเอง

#บาลีวันละคำ (4,608)

23-1-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *