กุมฺมาโส (บาลีวันละคำ 4,609)

กุมฺมาโส
ศีลของพระภิกษุเรารู้กันว่า มี 227 สิกขาบท 1 ใน 227 คือสิกขาบทที่ 5 โภชนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 501 ระบุ “เบญจโภชน์” ไว้ดังนี้ –
…………..
โภชนียํ นาม ปญฺจ โภชนานิ
โอทโน กุมฺมาโส สตฺตุ มจฺโฉ มํสํ ฯ
ที่ชื่อว่า โภชนียะ (ของกิน) ได้แก่ โภชนะ 5 อย่าง คือ
(1) โอทโน ข้าวสุก (boiled rice)
(2) กุมฺมาโส ขนมสด (junket)
(3) สตฺตุ ขนมแห้ง (barley-meal)
(4) มจฺโฉ ปลา (fish)
(5) มํสํ เนื้อ (meat)
หลักพระวินัยกำหนดว่า ผู้นิมนต์พระไปฉัน ถ้าระบุชื่อโภชนะ เช่นบอกว่า นิมนต์ไปฉันไก่ย่าง นิมนต์ไปฉันหมูสะเต๊ะ นิมนต์ไปฉันก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น พระรับนิมนต์ไปฉัน มีความผิด (ภาษาพระว่า “ต้องอาบัติ”) ตามสิกขาบทที่อ้างข้างต้นนั้น ฐานความผิดคือ “รับนิมนต์ที่ออกชื่อโภชนะ”
ผู้นิมนต์พระที่รู้วินัยพระ จึงนิมนต์เป็นคำกลาง ๆ ไม่ระบุชื่ออาหาร คำที่ใช้กันอยู่คือ นิมนต์ฉันภัตตาหารเช้า นิมนต์ฉันภัตตาหารเพล หรือ นิมนต์ฉันเช้า นิมนต์ฉันเพล เท่านี้ก็เป็นอันถูกต้อง นิมนต์แบบนี้ พระรับนิมนต์ไปฉันได้
…………..
“กุมฺมาโส” อ่านว่า กุม-มา-โส รูปคำเดิมเป็น “กุมฺมาส” อ่านว่า กุม-มา-สะ รากศัพท์มาจาก *กุลฺ (ธาตุ = นับ, ติดเนื่องกัน) + อาส ปัจจัย, ซ้อน ม, แปลง ลฺ ที่สุดธาตุเป็น มฺ
: กุลฺ + ม + อาส = กุลฺมาส > กุมฺมาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ของกินที่ติดเนื่องกัน” หมายถึง ขนมชนิดหนึ่ง
*หมายเหตุ: รากศัพท์ที่แสดงไว้นี้เป็นเพียงสันนิษฐาน เนื่องจากยังไม่พบตำราไวยากรณ์ที่แสดงรากศัพท์ของคำนี้โดยตรง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า บาลี “กุมฺมาส” สันสกฤตเป็น “กุลฺมาษ” (Vedic kulmāṣa) แปล “กุมฺมาส” ว่า junket และขยายความว่า usually with odana, boiled rice. (ตามปกติทำด้วย โอทน, ข้าวสุก)
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล junket ว่า เครื่องดื่มจัง-เค็ท นมเปรี้ยวใส่น้ำเชื่อมคล้ายเต้าฮวย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล junket เป็นบาลีว่า :
madhurakummāsa มธุรกุมฺมาส (มะ-ทุ-ระ-กุม-มา-สะ) = ขนมกุมมาสปรุงด้วยน้ำผึ้ง
ตำราเรียนของไทย แปลทับศัพท์ว่า “ขนมกุมมาส” และมีคำไขว่า ขนมสด
ขยายความ :
“กุมมาส” คือขนมอะไร?
หนังสือ วินัยมุข เล่ม 1 พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อธิบายเรื่อง “เบญจโภชน์” กล่าวถึง “กุมมาส” ไว้ดังนี้ –
…………..
ในคัมภีร์วิภังค์กล่าวโภชนะไว้ 5 อย่าง คือ ข้าวสุก 1 กุมมาส คือขนมสด 1 สัตตุ คือขนมแห้ง 1 ปลา 1 เนื้อ 1 …
กุมมาสนั้น คือขนมสดมีอันจะบูดเมื่อล่วงกาลแล้ว เช่นแป้งจี่ ขนมด้วง ขนมครกเป็นตัวอย่าง.
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “กุมมาส” บอกไว้ดังนี้ –

…………..
กุมมาส : ขนมสด คือขนมที่เก็บไว้นานเกินไปจะบูด เช่น ขนมด้วง ขนมครก ขนมถ้วย ขนมตาล เป็นต้น พระพุทธเจ้าหลังจากเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาก็เสวยข้าวสุกและกุมมาส

…………..
สรุปว่า “กุมมาส” เป็นอาหารคือของกินชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในจำพวกขนม

…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้ว่าต้องกิน เป็นสัตว์
: รู้ว่ากินเพื่ออยู่ เป็นคน
: รู้ว่าอยู่เพื่ออะไร เป็นมนุษย์
#บาลีวันละคำ (4,609)
24-1-68
…………………………….
…………………………….