บาลีวันละคำ

เทปาจารย์ (บาลีวันละคำ 4,607)

เทปาจารย์

คำสแลงของนักเรียนบาลี

อ่านว่า เท-ปา-จาน

แยกศัพท์เป็น เทป + อาจารย์

(๑) “เทป” 

เป็นคำที่ถอดรูปมาจากคำอังกฤษว่า tape

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล tape เป็นไทยดังนี้ –

1. ผ้า (หรือกระดาษ) ทำอย่างริบบิ้น สำหรับผูกของ 

2. ผ้ายางปิดแผล 

3. ผ้ายางพันสายไฟฟ้า 

4. ผูก 

5. กระดาษม้วน ที่ใช้รับโทรเลข 

6. เครื่องโทรเลขที่ติดไว้ตามสำนักค้าหุ้น 

7. เครื่องวัดระยะ ทำด้วยผ้าด้วยโลหะบางๆ ม้วนเข้าออกได้ = tapeline, tape measure, วัด 

8. เชือกขึงขวางทาง ตอนถึงเสาชนะในการวิ่งแข่ง 

9. แถบพลาสติกเคลือบสารแม่เหล็ก เป็นม้วนสำหรับบันทึกเสียง

ในที่นี้ tape มีความหมายตามข้อ 9. มีคำเต็มเรียกว่า tape recorder = เครื่องบันทึกเสียงชนิดใช้แถบพลาสติกเคลือบสารแม่เหล็ก

tape หรือ tape recorder เรียกเป็นคำไทยว่า “เทป” หมายถึง อุปกรณ์ชนิดหนึ่ง บันทึกเสียงไว้แล้วเปิดฟังเมื่อต้องการ

(๒) “อาจารย์

บาลีเป็น “อาจริย” อ่านว่า อา-จะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์” 

(2) อา (จากศัพท์ “อาทิ” = เบื้องต้น) + จรฺ (ธาตุ = ศึกษา) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น” 

(3) อา (จากศัพท์ “อาทร” = เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่

(4) อา (แข็งแรง, จริงจัง, ยิ่งใหญ่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง

(5) อา (แทนศัพท์ “อภิมุขํ” = ข้างหน้า, ตรงหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือศิษย์พึงดำเนินตาม)

(6) อา (แทนศัพท์ “อาปาณโกฏิกํ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต

บาลี “อาจริย” สันสกฤตเป็น “อาจารฺย” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

อาจารฺย : (คำนาม) ครู, ผู้สั่งสอน; a teacher.”

คำนี้สันสกฤตเป็น “อาจารฺย” ตรงกับที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “อาจารย์” 

โปรดสังเกตว่า สันสกฤตเป็น “อาจารฺย

ไม่ใช่ “อาจาริย”

และบาลีก็เป็น “อาจริย” 

ไม่ใช่ “อาจาริย”

อาจริย” แปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า อาจารย์ (a teacher)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คําที่ใช้เรียกนําหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”

เทป + อาจารย์ = เทปาจารย์ แปลว่า “อาจารย์คือเทป” หรือ “เทปอันเป็นอาจารย์

พึงทราบว่า “เทปาจารย์” เป็นคำที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีในภาษาบาลี เป็นคำสแลงหรือภาษาปาก เป็นคำที่นักเรียนบาลีคิดขึ้นใช้เรียกอุปกรณ์ที่บันทึกเสียงไว้แล้วเปิดฟังเมื่อต้องการ

ขยายความ :

การเรียนบาลีในช่วงเวลาที่ผ่านมาประมาณ พ.ศ.2500 +/- นักเรียนบาลีบางสำนักใช้อุปกรณ์คือ “เทป” (tape หรือ tape recorder) เป็นเครื่องช่วย

คุณสมบัติหรือสาระของอุปกรณ์ชนิดนี้คือ มีผู้บันทึกเสียงอ่านคำแปลโดยพยัญชนะวิชาแปลมคธเป็นไทยชั้นประโยค ป.ธ.3 (แปลคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ทั้ง 8 ภาค) โดยเฉพาะส่วนที่เป็น “ประโยคเก็ง” ลงในแถบบันทึกเสียง (สมัยนั้นเป็นชนิดม้วนเหมือนฟิล์มภาพยนตร์) แล้วเปิดฟังเพื่อทบทวนให้เข้าใจวิธีแปลและจำคำแปลได้ขึ้นใจ เมื่อเห็นข้อสอบที่เป็นภาษาบาลีจะช่วยให้แปลได้ง่ายขึ้นเพราะฟังคำแปลจากเทปอยู่บ่อย ๆ จนติดหู

เมื่อเปิดฟังเทป นักเรียนบาลีมักนัดหมายกันไปชุมนุมฟังร่วมกัน มีลักษณะเหมือนเข้าชั้นเรียนแบบหนึ่ง โดยมี “เทป” เป็นครูสอน จึงเกิดมีผู้คิดคำว่า “เทปาจารย์” ใช้เรียกเครื่องเทปบันทึกเสียงนั้น 

คำว่า “เทปาจารย์” มีกำเนิดขึ้นมาด้วยประการฉะนี้

บาลีวันละคำขอบันทึกไว้เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ของการเรียนบาลีในสมัยหนึ่งของประเทศไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

คนไทยสมัยหนึ่ง: แค่วัตถุที่ช่วยให้มีความรู้ 

ยังนับถือว่าเป็นครูอาจารย์

คนไทยสมัยนี้: คนแท้ ๆ ที่สั่งสอนวิชาการ

กลับเหยียบย่ำว่าไม่มีบุญคุณ

#บาลีวันละคำ (4,607)

22-1-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *