บาลีวันละคำ

ฤๅษีนารอด (บาลีวันละคำ 4,610)

ฤๅษีนารอด

นามนี้ท่านได้แต่ใดมา

อ่านว่า รือ-สี-นา-รอด

ประกอบด้วยคำตามที่ตาเห็น คือ ฤๅษี + นารอด 

(๑) “ฤๅษี” 

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อิสิ” อ่านว่า อิ-สิ รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = แสวงหา; ปรารถนา; ไป) + อิ ปัจจัย

: อิสฺ + อิ = อิสิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้แสวงหาคุณธรรม” (2) “ผู้ปรารถนาสิวะคือพระนิพพาน” (3) “ผู้ไปสู่สุคติ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิสิ” ว่า a holy man, one gifted with special powers of insight & inspiration, an anchoret, a Seer, Sage, Saint (คนศักดิ์สิทธิ์, ผู้มีพรสวรรค์เกี่ยวกับกำลังภายใน และผู้มีตาทิพย์, โยคี, ฤๅษี, มุนี, นักบุญ)

ในการพูดกันทั่วไปในภาษาไทย แทบจะไม่มีใครรู้จักคำว่า “อิสิ” แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็เก็บคำว่า “อิสิ” และ “อิสี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

อิสิ, อิสี : (คำนาม) ผู้แสวงคุณความดี, ฤษี, ผู้ถือบวช. (ป.; ส. ฤษิ).”

บาลี “อิสิ” สันสกฤตเป็น “ฤษิ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ฤษิ : (คำนาม) พระฤษี [พระฤษีมีอยู่ ๗ จำพวก คือ สฺรุตรฺษิ, กานฺทรฺษิ, ปรมรฺษิ, มหรฺษิ, ราชรฺษิ, พฺรหฺมรฺษิ, เทวรฺษิ]; พระเวท; แสง; a sanctified personage [there are seven orders of these saints, as Srutarshi, Kāntarshi, Paramrshi, Maharshi, Rājarshi, Brahmarshi, and Devarshi]; a Veda; a ray of light.” 

บาลี “อิสิ” สันสกฤต “ฤษิ” ในภาษาไทยมีทั้ง “ฤษี” (รึ-สี) และ “ฤๅษี” (รือ-สี)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) ฤษี : (คำนาม) ฤๅษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ. (ส. ฤษี ว่า ผู้เห็น, ผู้แต่งพระเวท; ป. อิสิ).

(2) ฤๅษี : (คำนาม) ฤษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ.

โปรดสังเกตว่า ที่คำว่า “ฤษี” พจนานุกรมฯ บอกที่มาของคำไว้ว่า สันสกฤต “ฤษี” (ที่คำว่า “อิสิ, อิสี” บอกว่าสันสกฤต “ฤษิ”) บาลี “อิสิ” 

แต่ที่คำว่า “ฤๅษี” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกที่มาของคำไว้ ดังจะให้เข้าใจว่า คำ “ฤๅษี” ยังไม่ทราบว่ามาจากภาษาอะไร

แต่เมื่อดูรูปคำแล้วก็เห็นได้ชัดว่า “ฤๅษี” เป็นคำที่กลายมาจาก “ฤษี” และ “ฤษี” ก็กลายมาจาก “ฤษิ” อีกต่อหนึ่งนั่นเอง

ระวัง! อย่าเขียนผิด : 

ข้อที่ต้องทราบก็คือ ตัว “ฤๅ” (รือ) ในคำว่า “ฤๅษี” ไม่ใช่ + สระ เครื่องหมาย – เช่นนี้ไม่ใช่สระ อา หางยาวอย่างที่บางคนชอบเรียก แต่เป็นส่วนควบหรือตัวเต็มๆ ของตัว “ฤๅ” 

เหมือนเราเขียน หญิง ต้องมีเชิง หรือ ฐาน ก็ต้องมีเชิง 

เชิงนั้นคือส่วนควบหรือตัวเต็มๆ ของ และ ฉันใด 

เครื่องหมาย – ก็เป็นส่วนควบหรือตัวเต็มๆ ของ “ฤๅ” ฉันนั้น 

เพราะฉะนั้น คำว่า “ฤๅษี” ต้องเขียนอย่างนี้

ถ้าเขียน “ฤาษี” ( + สระ ) แบบนี้คือเขียนผิด

(๒) “นารอด” 

เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก “นารท” อ่านแบบบาลีว่า นา-ระ-ทะ อ่านแบบไทยว่า นา-รด 

จาก นา-รด ก็เพี้ยนเป็น นา-รอด 

แล้วสะกดเป็น “นารอด” แบบไทยเสียด้วยเลย

นารท” เป็นอสาธารณนาม (proper name) นิยมตั้งเป็นชื่อผู้ชายชาวชมพูทวีปกันทั่วไป นักบวชนักพรตที่ชื่อ “นารท” พบได้ทั่วไปในคัมภีร์บาลี

ชื่อ “นารท” มีรากศัพท์มาอย่างไร คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี (อรรถกถาคัมภีร์อปทาน) อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

ตตฺถ  นารโทติ  

คำว่า นารโท มีคำอธิบายว่า –

ชาติวเสน  สุทฺธสรีรตฺตา  นตฺถิ  รโช  ธูลิ  มลํ  เอตสฺสาติ  นารโท

ชื่อ นารทะ เพราะละออง (รโช) ธุลี (ธูลิ) มลทิน (มลํ) ของเขาไม่มี เพราะเขามีผิวพรรณบริสุทธิ์ด้วยอำนาจแห่งชาติกำเนิด 

ชการสฺส  ทการํ  กตฺวา  นารโทติ  กุลทตฺติกํ  นามํ  ฯ

จึงได้รับชื่อจากตระกูลว่า นารทะ เพราะแปลง -อักษร เป็น -อักษร

ที่มา: วิสุทธชนวิลาสินี ภาค 2 (เอกปสาทนิยตฺเถราปทานวณฺณนา) หน้า 247-248 

…………..

ขยายความ :

คำว่า “นารท” (นา-ระ-ทะ) มีรากศัพท์มาจากคำบาลีว่า “นตฺถิ รโช” (นัตถิ ระโช) แปลว่า “ไม่มีไฝฝ้า” เพราะมีผิวพรรณดีตามชาติกำเนิด

“นตฺถิ รโช” รูปคำแท้คือ “ รช” (นะ ระ-ชะ) 

” (นะ) แปลว่า ไม่มี, ไม่ใช่ (no, not) 

รช” (ระ-ชะ) แปลว่า (1) ฝุ่น, ของโสโครก; ละอองที่เปื้อน (dust, dirt; staining dust) (2) มลทิน, ความสกปรก, ความด่างพร้อย, ความไม่บริสุทธิ์ (stain, dirt, defilement, impurity) 

(1) “ รช” ทีฆะ คือยืดเสียง นะ เป็น นา = รช > นารช

(2) แปลง เป็น = นารช > นารท 

นารท” (นา-ระ-ทะ) แปลว่า “ผู้ไม่มีไฝฝ้า” หรือแปลโดยนัยตรงข้ามว่า “ผู้มีผิวพรรณสะอาดสะอ้าน

นารท” อ่านแบบไทยว่า นา-รด 

จาก นา-รด เพี้ยนไปเป็น นา-รอด 

แล้วสะกดเป็น “นารอด” 

เป็นชื่อฤๅษี จึงเรียกควบกันว่า “ฤๅษีนารอด” 

ฤๅษีนารอด” ชื่อที่ถูกต้องคือ “ฤๅษีนารท

อ่านแบบไทยว่า รือ-สี-นา-รด

ถ้าจะให้อ่านแบบบาลีว่า รือ-สี-นา-ระ-ทะ ก็สะกดเป็น “ฤๅษีนารทะ

แต่คงไม่มีใครเขียนตาม เพราะหลงทางเป็น “ฤๅษีนารอด” มาไกลเกินจะกลับหลังได้เสียแล้ว

เพราะฉะนั้น สะกดเป็น “ฤๅษีนารทะ” ได้ ก็ดี

หรือถ้าจะเป็น “ฤๅษีนารอด” กันต่อไปก็ไม่เป็นไร

เพียงแต่ขอให้รู้ทันกันไว้บ้างว่า ชื่อจริง ๆ ของฤๅษีตนนี้คือ “ฤๅษีนารทะ

พูดเป็นบาลีว่า “นารโท นาม อิสิ” (นา-ระ-โท นา-มะ อิ-สิ)

เรียกชื่อแบบไทยว่า “ฤๅษีนารทะ” 

แปลว่า ฤๅษีผู้มีผิวพรรณวรรณะผุดผ่อง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บุคลิกดี สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง-ก็ไม่เลว

: แต่ยังมีโอกาสล้มเหลวอีกครึ่งหนึ่ง

——————

ภาพประกอบ ถ่ายจากป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จังหวัดราชบุรี

#บาลีวันละคำ (4,610)

25-1-68

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *