บาลีวันละคำ

ทูตานุทูต (บาลีวันละคำ 4,611)

ทูตานุทูต

จะต้องให้พูดกันอีกกี่ร้อยที

อ่านว่า ทู-ตา-นุ-ทูด

แยกศัพท์เป็น ทูต + อนุทูต

(๑) “ทูต” 

บาลีอ่านว่า ทู-ตะ รากศัพท์มาจาก ทุ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป, เดือดร้อน) + ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ ทุ เป็น อู (ทุ > ทู)

: ทุ + = ทุต > ทูต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขาส่งไป” “ผู้เดือดร้อน” (เพราะจะต้องผจญการต่างๆ แทนเจ้าของเรื่อง) หมายถึง คนสื่อสาร, ผู้ไปทำการแทน (a messenger, envoy)

บางตำราว่า “ทูต” ใช้ “ทูร” (ทู-ระ) แทนได้ 

ทูร” แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไปถึงโดยยาก” หมายถึง ไกล, ห่าง, ห่างไกล 

ตามนัยนี้ ทูร < ทูต มีความหมายว่า “ผู้ถูกส่งออกไปไกล” (one who is sent far away) 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ทูต” เหมือนบาลี บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทูต : (คำวิเศษณ์) อันส่งหรือใช้ไปแล้ว; sent or despatched; – (คำนาม) ทูต, ผู้ซึ่งราชการย์ใช้ไป, พารดาหร, ผู้นำข่าวหรือถือศาสน์, ราชทูต; ทูตผู้หญิง, นางตั้วโผ, นางแม่สื่อแม่ชัก; a messenger or convoy, a news-carrier, an ambassador; a female messenger, a procuress, a go-between. [ดูที่ ทูตฺย; which see].”

ตามไปดูที่คำว่า “ทูตฺย” บอกไว้ดังนี้ –

ทูตฺย : (คำนาม) ‘ทูตย์,’ ทูตกริยา, ศาสน์; ใจความในศาสน์ (ที่ทูตถือไป), น่าที่ของพารดาหรหรือราชทูต; an embassy, a message; the abstract state of a message, the condition or function of a messenger or an ambassador. ราชทูตมํฑลํ, ราชทูตมณฺฑล, ราชทูตสมูห. (คำนาม) คณะทูต, คณะสามนหรือราชนีติโกศล, คำว่า ‘คณะราชนีติกุศล’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; the diplomatic corps, or Corps diplomatique.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ทูต : (คำนาม) ผู้นำข้อความไปแจ้งทั้ง ๒ ฝ่าย, ผู้รับใช้ไปเจรจาแทน, ผู้สื่อสาร, ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนไปยังต่างประเทศ เพื่อเจรจาหรือเจริญสัมพันธไมตรีเป็นทางราชการ. (ป.).” 

(๒) “อนุทูต” 

บาลีอ่านว่า อะ-นุ-ทู-ตะ ประกอบด้วยคำว่า อนุ + ทูต 

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อยอนุภรรยา” = เมียน้อย

แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป

แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา

แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก 

ในที่นี้ “อนุ” แปลว่า น้อย

(ข) “ทูต” ดูข้างต้น

อนุ + ทูต = อนุทูต บาลีอ่านว่า อะ-นุ-ทู-ตะ, ภาษาไทยอ่านว่า อะ-นุ-ทูด แปลว่า “ทูตน้อย” ใช้ในกรณีที่พูดรวมกับทูตคนอื่นหรือคณะอื่น

ทูต + อนุทูต = ทูตานุทูต แปลตามความมุ่งหมายว่า “ทูตใหญ่และทูตน้อย” 

หมายความว่า เมื่อเอาคำว่า “ทูต” และ “อนุทูต” มาพูดควบกัน –

ทูต” แปลว่า “ทูตใหญ่” 

อนุทูต” แปลว่า “ทูตน้อย

แต่โดยเจตนาแล้ว มิได้มุ่งหมายจะเปรียบเทียบว่าทูตคนไหนหรือคณะไหน “ใหญ่” หรือ “น้อย” กว่ากัน แต่มุ่งหมายจะกล่าวว่า มีทูตหลายคนหรือหลายคณะมารวมกันอยู่ในที่นั้น

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ทูตานุทูต : (คำนาม) ทูตใหญ่น้อย, คณะทูต. (ป.).”

ขยายความ :

คำว่า “ทูตานุทูต” ไม่มีปัญหาในเรื่องความหมาย แต่มีปัญหาในเรื่องสะกดคำ 

ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า “ทูต” คำนี้ ใช้ ทหาร ไม่ใช่ มณโฑ 

“ฑูต” มณโฑ เป็นคำที่เขียนผิด 

อย่าเขียนนำ และอย่าเขียนตาม

ย้ำ: “ทูต” ใช้ ทหาร ไม่ใช่ มณโฑ

แถม :

ผู้เขียนบาลีวันละคำเขียนคำว่า “ทูต” เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2555 เป็นบาลีวันละคำคำที่ 223 และตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็ได้พยายามทักท้วงมาเสมอว่า –

ทูต” ก็ดี “ทีฆายุโก” ก็ดี ใช้ ทหาร ไม่ใช่ มณโฑ 

คำทักท้วงนี้คงมีคนได้ยินหรือได้ฟังอยู่บ้าง แต่คนที่ไม่ได้ยิน หรือไม่ได้ฟัง หรือได้ยินได้ฟังแต่ไม่สนใจ ไม่รับรู้ ทั้งไม่คิดจะเรียนรู้ ก็คงมีอยู่อีกมาก 

ทุกวันนี้ คนเขียน “ทูต” ใช้ มณโฑ “ทีฆายุโก” ใช้ มณโฑ ก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป

การเขียนคำว่า “ทูต” และ “ทีฆายุโก” ให้ถูกต้อง คือใช้ ทหาร ไม่ใช่ มณโฑ ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนหรือสูงลิบลิ่ว ต้องใช้สติปัญญาระดับอภิมหาบัณฑิต หรือต้องมาจากสวรรค์ชั้นฟ้าจึงจะเข้าใจได้และทำได้ 

คนมีสติปัญญาระดับธรรมดา ๆ มีความรู้เพียงแค่อ่านออกเขียนได้นี่เองก็สามารถเข้าใจได้และทำได้ 

เรื่องนี้จึงสอนให้ได้แง่คิดว่า บ้านเมืองเราไม่ได้ขาดแคลนคนมีการศึกษาสูง แต่เราขาดแคลนคนที่เอาใจใส่ตั้งใจแก้ไขสิ่งที่ผิดให้หมดไปแล้วทำสิ่งที่ถูกต้องแทน

ที่น่าเหนื่อยใจก็คือ ทุกวันนี้เราก็ยังทุ่มเททรัพยากรไปเพื่อผลิตคนที่มีการศึกษาสูงอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

แต่คนที่เอาใจใส่ตั้งใจแก้ไขสิ่งที่ผิดให้หมดไปแล้วทำสิ่งที่ถูกต้องแทน-คนประเภทนี้ที่เราขาดแคลนอย่างยิ่งนั้น ผู้บริหารบ้านเมืองของเราไม่เคยคิดจะสร้างขึ้นมาแต่ประการใด

ภาษาเป็นสมบัติวัฒนธรรมประจำชาติ การสะกดคำถูกต้อง เป็นการรักษาสมบัติของชาติให้งดงาม

ใครมีใจรักสมบัติวัฒนธรรมประจำชาติ รักบ้านเมือง มีกำลังพอจะทำอะไรได้ ก็จงช่วยกันทำเข้าเถิด

มีคนอ่านบาลีวันละคำวันนี้แล้วเอะใจ จากที่เคยเขียน “ทูต” ใช้ มณโฑ กลับมาใช้ ท ทหาร อันเป็นคำที่ถูกต้อง-แม้เพียงคนเดียว ก็คุ้มเหนื่อยแล้ว

แต่แม้จะยังมีคนเขียน “ทูต” ใช้ มณโฑ อยู่ต่อไป ก็ไม่ว่ากัน

ท่านมีแรงเขียนผิดได้

ข้าพเจ้าก็มีแรงทักท้วงได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เอาผู้หญิงไปเป็นทหาร ทำได้ 

: แต่เอา ฑ มณโฑ มาแทน ท ทหาร อย่าทำ

#บาลีวันละคำ (4,611)

26-1-68

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *