อวิตถตา (บาลีวันละคำ 4,612)

อวิตถตา
คำที่ควรรู้จักให้ครบชุด
อ่านว่า อะ-วิ-ตะ-ถะ-ตา
แยกศัพท์ตามที่ตาเห็นเป็น อ + วิ + ตถตา
(๑) “อ”
บาลีอ่านว่า อะ แปลงรูปมาจาก “น” (นะ) เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
แปลง น เป็น อ ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน
ในที่นี้คำหลังคือ “วิตถตา” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงต้องแปลง น เป็น อ
(๒) “วิ”
เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” หมายถึง คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง เช่น –
วัฒน์ = เจริญ
อภิวัฒน์ = เจริญยิ่ง
ปักษ์ = ฝ่าย
ปฏิปักษ์ = ฝ่ายตรงข้าม, ข้าศึก, ศัตรู.
ตามตัวอย่างนี้ “อภิ” และ “ปฏิ” คือคำอุปสรรค
คำอุปสรรคในบาลีมีประมาณ 20 คำ “วิ” เป็นคำหนึ่งในจำนวนนั้น มีคำแปลที่นักเรียนบาลีท่องจำกันได้ว่า “วิ = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง”
“วิเศษ” และ “ต่าง” ในที่นี้หมายถึง แปลกไปจากปกติ, ไม่ใช่สิ่งที่มีที่เป็นอยู่ตามปกติ, ไม่เหมือนพวกที่เป็น ที่เห็น ที่มีกันอยู่ตามปกติ
(๓) “ตถตา”
อ่านว่า ตะ-ถะ-ตา ประกอบด้วย ตถ + ตา
(ก) “ตถ” อ่านว่า ตะ-ถะ รากศัพท์มาจาก ตถฺ (ธาตุ = จริง, แท้) + อ (อะ) ปัจจัย
: ตถ + อ = ตถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จริงแท้” หมายถึง แท้, จริง; โดยแท้, ไม่มุสา (true, real; in truth, truthful)
ในคัมภีร์แสดงไว้ว่า สิ่งที่พระพุทธศาสนาสอนว่าเป็น “ตถะ” มี 4 อย่าง คืออริยสัจสี่ ตามคำที่ท่านว่า –
(1) ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นของจริงแท้
(2) สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นของจริงแท้
(3) นิโรธ ความดับทุกข์ เป็นของจริงแท้
(4) มรรค ทางให้ถึงความดับทุกข์ เป็นของจริงแท้
(ข) “ตา” เป็นปัจจัยในภาวตัทธิต (ตัทธิต เป็นแขนงหนึ่งของบาลีไวยากรณ์ ว่าด้วยศัพท์ที่ใช้ปัจจัยต่อท้ายแล้วมีความหมายต่างๆ กันไป)
“ภาวตัทธิต” (พา-วะ-ตัด-ทิด) คือศัพท์ที่ลงปัจจัยจำพวกหนึ่ง (นอกจาก “ตา” แล้วยังมีปัจจัยอื่นอีก) แปลว่า “ความเป็น–” เช่น “ธมฺมตา” (ทำ-มะ-ตา) = “ความเป็นแห่งธรรม” ที่เราเอามาใช้ว่า “ธรรมดา”
สรุปสั้น ๆ “ตา” เป็นคำจำพวก “ปัจจัย” ใช้ต่อท้ายศัพท์ ทำให้คำที่มี “ตา” ต่อท้ายเป็นคำนาม แปลว่า “ความ-” หรือ “ความเป็น-”
ตถ + ตา = ตถตา (ตะ-ถะ-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งสิ่งที่จริงแท้” หมายถึง ความเป็นเช่นนั้น, การเป็นเช่นเดียวกันนั้น, ความเป็นจริง (state of being such, such-likeness, similarity, correspondence)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
…………..
ตถตา : ความเป็นอย่างนั้น, ความเป็นเช่นนั้น, ภาวะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของมันอย่างนั้นเอง คือเป็นไปตามเหตุปัจจัย (มิใช่เป็นไปตามความอ้อนวอนปรารถนา หรือการดลบันดาลของใครๆ) เป็นชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกกฎ ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา
…………..
การประสมคำ :
๑ วิ + ตถตา = วิตถตา (วิ-ตะ-ถะ-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งสิ่งที่จริงแท้อันต่างออกไป” หมายความว่า:
– เดิม “ตถตา” หมายถึง สิ่งที่จริงแท้
– แต่เมื่อมี “วิ” มานำหน้าเป็น “วิตถตา” ทำให้ความหมาย “ต่างออกไป” คือจาก “จริงแท้” กลายเป็น “ไม่จริงแท้” จากที่เคยเป็นจริงอย่างนั้น กลายเป็น-ผันแปรเป็นอย่างอื่น
สรุปว่า “วิตถตา” หมายถึง “ความผันแปร”
๒ น + วิตถตา = นวิตถตา > อวิตถตา (อะ-วิ-ตะ-ถะ-ตา) แปลว่า “ความไม่ผันแปร”
กล่าวตรงไปตรงมา “อวิตถตา” มีความหมายเช่นเดียวกับ “ตถตา” นั่นเอง เป็นการแสดงรูปคำยักเยื้องออกไปเพื่อให้เข้าใจความหมายหนักแน่นแน่นอนขึ้น และมั่นใจยิ่งขึ้น
ขยายความ :
คำในชุดนี้มี 4 คำ คือ “ตถตา” (ตะ-ถะ-ตา) “อวิตถตา” (อะ-วิ-ตะ-ถะ-ตา “อนัญญถตา” (อะ-นัน-ยะ-ถะ-ตา “อิทัปปัจจยตา” (อิ-ทับ-ปัด-จะ-ยะ-ตา
คำแปลตามศัพท์ที่ท่านผู้รู้แปลไว้แต่เดิมเป็นดังนี้ –
ตถตา = ความมีเพราะปัจจัยอย่างนั้น
อวิตถตา = ความไม่มีที่จะไม่มีเพราะปัจจัยอย่างนั้น
อนัญญถตา= ความไม่มีธรรมอื่นเพราะปัจจัยอื่น
อิทัปปัจจยตา = ความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้
แปลแบบถอดความหรือสกัดเอาความดังนี้ –
ตถตา = เป็นเช่นนั้นเอง
อวิตถตา = ไม่แปรผัน
อนัญญถตา = ไม่เป็นอย่างอื่น
อิทัปปัจจยตา = เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี
คำในชุดนี้มีความหมายตรงกันทุกคำ ใช้คำไหนก็โยงไปถึงกันได้หมด คือมีความหมายว่า เรื่องนั้นต้องเป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีทางผันแปรเป็นอย่างอื่น เพราะปัจจัยของมันเป็นอย่างนั้น
คำในชุดนี้ที่นิยมเอาไปเอ่ยอ้างกันเนือง ๆ คือ “ตถตา” และ “อิทัปปัจจยตา”
ส่วน “อวิตถตา” และ “อนัญญถตา” กล่าวได้ว่า ไม่มีใครรู้จัก
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอนำมาแนะนำให้รู้จัก อุปมาเหมือนมีพี่น้องอยู่ 4 คน เมื่อรู้จัก 2 คนแล้ว ก็ควรรู้จักให้ครบทั้ง 4 คน
เมื่อรู้จักแล้ว เวลาเอาคำหนึ่งไปพูด ก็ควรจะนึกถึงอีก 3 คำได้ด้วย ไม่ใช่เอาไปเอ่ยอ้างกัน 2 คำ แล้วเลยเข้าใจผิดคิดว่ามีแค่ 2 คำ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรียนเพื่อรู้
: รู้เพื่อปฏิบัติ
: ปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น
: พัฒนาตนเองดีขึ้นแล้วจึงสอน
#บาลีวันละคำ (4,612)
27-1-68
…………………………….
…………………………….