ทัณฑกรรม (บาลีวันละคำ 1,037)
ทัณฑกรรม
อ่านว่า ทัน-ดะ-กำ
ประกอบด้วย ทัณฑ + กรรม
(๑) “ทัณฑ”
บาลีเป็น “ทณฺฑ” อ่านว่า ทัน-ดะ (ฑ มณโฑ ออกเสียงเหมือน ด เด็ก) รากศัพท์มาจาก –
(1) ทมฺ (ธาตุ = ฝึก, ข่ม, ทรมาน) + ฑ ปัจจัย, แปลง มฺ เป็น ณฺ
: ทมฺ > ทณ + ฑ = ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องทรมานฝึกฝน” หมายถึง การลงทัณฑ์, การทรมาน, การลงอาญา, การถูกปรับ
(2) ทฑิ (ธาตุ = ตี, ประหาร) + ก ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณฺ, ลบ ก และสระที่สุดธาตุ
: ทฑิ > ทํฑิ > ทณฺฑิ > ทณฺฑ + ก = ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องตี” หมายถึง ท่อนไม้, ไม้เท้า, ไม้เรียว
(๒) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
“กรรม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย –
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
ทณฺฑ + กมฺม = ทณฺฑกมฺม > ทัณฑกรรม แปลตามศัพท์ว่า “กรรมคือการลงโทษ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทณฺฑ” ไว้ดังนี้ :
(1) stem of a tree, wood, wood worked into something, e. g. a handle, etc. (ลำต้นไม้, ไม้, ไม้ที่ทำเป็นอะไรขึ้นมา เช่น ด้าม ฯลฯ)
(2) a stick, staff, rod, to lean on, & as support in walking; the walking-stick of a Wanderer (ไม้พยุงกายเวลาเดิน, ไม้ถือ, ไม้ค้ำ, ไม้เท้า; ไม้พลอง)
(3) a stick as means of punishment. a blow, a thrashing (ไม้เรียว, การตี, การเฆี่ยน)
(4) a stick as a weapon in general (ท่อนไม้ที่ใช้เป็นอาวุธ)
(5) a means of frightening, frightfulness, violence, teasing (วิธีทำให้ตกใจ, ความกลัว, ความรุนแรง, การแกล้ง)
และแปล “ทณฺฑกมฺม” ว่า punishment by beating, penalty, penance, atonement (การลงโทษโดยการโบยตี, โทษทัณฑ์, การลงโทษตนเอง, การบรรเทาโทษ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
๑) ทัณฑ์ :
(1)โทษที่เนื่องด้วยความผิด.
(2) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) โทษทางวินัยที่ใช้แก่ทหารที่กระทำความผิดมี ๕ สถาน ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กัก ขัง และจำขัง.
๒) ทัณฑกรรม :
(1) การลงโทษ.
(2) โทษที่ลงแก่สามเณรที่ประพฤติผิด.
(3) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) โทษทางวินัยสถานหนึ่งตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารและกฎหมายว่าด้วยวินัยตํารวจ คือ ให้ทํางานโยธา งานสุขา งานสาธารณประโยชน์ หรือให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจําซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว.
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“ทัณฑกรรม : การลงอาชญา, การลงโทษ; ในที่นี้ หมายถึงการลงโทษสามเณรคล้ายกับการปรับอาบัติภิกษุ ได้แก่ กักบริเวณ ห้ามไม่ให้เข้า ห้ามไม่ให้ออกจากอาราม หรือการใช้ตักน้ำ ขนฟืน ขนทราย เป็นต้น”
ควรทราบ :
๑ ทัณฑกรรม เป็นการลงโทษอย่างอารยชน โดยเฉพาะในทางพระธรรมวินัยจะไม่มีการลงโทษโดยวิธีทำร้ายร่างกายอย่างเด็ดขาด
๒ ทัณฑกรรม มิใช่ใช้ลงโทษแก่สามเณรเท่านั้น แม้พระภิกษุก็อาจถูกสงฆ์หรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์ลงทัณฑกรรมได้เช่นกัน
สมัยผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นเด็กวัด เคยเห็นหลวงพ่อลงทัณฑกรรมพระลูกวัดรูปหนึ่งด้วยการให้ไป “ล้างถาน” คือทำความสะอาดส้วม !
: ถ้าควบคุมจิตของตนไว้ได้
: ก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาลงทัณฑกรรม
21-3-58