บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

นาง

นาง

—-

เมื่อวันพุธที่ ๑๑ มีนาคม ผมทำหน้าที่คนขับรถพาอาจารย์ที่บ้านไปตรวจความผิดปกติของดวงตาที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว

โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นโรงพยาบาลนอกระบบ

โรงพยาบาลนอกระบบคืออย่างไรผมไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไร เคยมีคนบอกให้ฟังว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าของ มีระบบบริหารงานที่คล่องตัว คุณภาพการดูแลรักษาดีเยี่ยม บริการทุกระดับคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้มารับบริการเป็นที่ตั้ง หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกระดับใช้หลัก-ทำงานมาก รายได้ยิ่งมาก บริการดี ยิ่งได้รับผลตอบแทนดี-

อาจารย์ที่บ้านผมเคยไปเยี่ยมเพื่อนร่วมสถาบันที่ไปนอนป่วยอยู่ที่นั่น กลับมาคุยว่า ห้องพักผู้ป่วยเหมือนโรงแรมชั้นหนึ่ง !

ระบบบัตรคิว ไปถึงโรงพยาบาลตีสี่ นั่งรอคิวครึ่งวัน หมอตรวจสามนาที กลับถึงบ้านสี่ทุ่ม แบบโรงพบาลของรัฐทั่วไป-ที่นี่ไม่มี ว่ากันอย่างนั้น

เท็จจริงอย่างไร ไม่ประจักษ์ 

ผมอยากไปลองดูเหมือนกัน แต่ทำอย่างไรก็ไม่ป่วยสักที หู ตา คอ จมูก เข่า ข้อ ปอด ตับ หัวใจ ฯลฯ ยังทำงานเป็นปกติสุขดีอยู่

จะใช้งานไม่ได้ก็มีแต่ฟัน แต่ไม่เคยเป็นอุปสรรคในการดำรงชีพ หรือการสื่อสารทางเสียง

ลูกสะใภ้ผมเป็นหมอฟันครับ

ได้ยินว่าเธอกำลังกัดฟันกรอดๆ ว่าทำอย่างไรจึงจะจับพ่อของสามีไปเลาะฟันที่เหลือให้หมดปากได้เสียที

ทางผมก็เผอิญยังไม่ค่อยว่าง !

————-

แต่วันที่ผมทำหน้าที่พนักงานขับรถพาอาจารย์ที่บ้านไปโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เข้าไปส่งถึงทางขึ้นตึกอำนวยการ แล้ววนออกมาหาที่จอดรถที่ถนนด้านหน้าโรงพยาบาล ผมประมาณสถานการณ์ดูแล้วคาดว่า ผมน่าจะมีเวลาว่างเป็นชั่วโมงแน่ 

แต่เวลาว่างแบบนี้ในสถานการณ์แบบนั้น สำหรับผมแล้วไม่มีอะไรที่ควรทำได้ดีเท่ากับหาที่นั่งเงียบๆ

————-

จัดแจงหาบิณฑบาตแถวนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมก็เข้าไปเลือกมุมที่ถูกใจ นั่งสังเกตการณ์อยู่ในโรงพยาบาล

มุมที่ผมเลือกนั้นเป็นชุมทางที่คนมาถึงโรงพยาบาลแล้วจะต้องเดินผ่านไปห้องนั้นห้องโน้น 

มีทั้งบุคลากรทางการแพทย์ผ่านไปผ่านมาตลอดเวลา 

รถเข็นคนป่วยนั่งป่วยนอน 

พยาบาลถือคลิปรายการผู้ป่วยเดินจากห้องนั้นไปห้องโน้น 

รถเข็นถุงดำ 

คนถูพื้น 

ฯลฯ 

ผู้ป่วยและญาติเดินเข้าออกขวักไขว่

เหมือนในหนังฝรั่งยังไงยังงั้น

————-

ผมนั่งกำหนดดูจิตตัวเองพร้อมไปกับดูวิถีชีวิตของเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายอยู่เกือบชั่วโมงหนึ่ง ก็เห็นสตรีสาวผู้หนึ่งเข็นรถนั่งที่มีสตรีสูงวัยผู้หนึ่งนั่งออกมาจากห้องข้างๆ 

ได้ยินคนนั่งและคนเข็นรถสนทนากันถึงอาการเจ็บป่วย 

ผมได้ยินชัดๆ อยู่ ๒ ประโยคเท่านั้น

………..

“แม่รู้ได้ไงว่าเป็นยังงั้น”

“ก็นางพยาบาลเขาบอก”

………..

ผมหูผึ่งทันที

“นางพยาบาล” !

เออ ผมไม่ได้ยินใครเรียกอย่างนี้มานานเท่าไรแล้วนะ

————-

สมัยผมเป็นเด็ก (ขึ้นต้นแบบนี้คงรู้กันดีว่าผู้พูดอยู่ในวัยที่ชอบ “เล่าความหลัง”) ได้ยินใครๆ เรียกสตรีผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยว่า “นางพยาบาล” ทั้งนั้น

ระยะหลังๆ มานี่จึงสังเกตเห็นว่า คำว่า “นาง” ถูกตัดทิ้งไป เหลือแต่ “พยาบาล”

เช่น –

………

น้องสาวเป็นพยาบาลอยู่ที่ …

แบบนี้น่าจะต้องจ้างพยาบาลมาดูแล

หนูเป็นพยาบาลนะคะ ไม่ใช่หมอ

………

เออ ทำไมจึงรังเกียจคำว่า “นาง” กันเสียจริงๆ

สตรีบางนาง-ขอประทานโทษ-สตรีบางท่านแม้จะแต่งงานแล้ว ก็ยังใช้สิทธิ์ที่จะใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” อยู่นั่นเอง

ถ้ามียศ หรือพอจะใช้คำนำหน้าเป็นอย่างอื่นได้ ก็พอใจจะใช้ทันที

แต่สังเกตดูว่าไม่ค่อยมีความภาคภูมิใจกับคำนำหน้านามว่า “นาง” สักเท่าไร

————-

แม่ผมเป็นคนบ้านลาด เพชรบุรี ชื่อ “เหมิด” (ห นำ ไม่ใช่ เห-มิด)

แม่จะเคยเป็น “นางสาวเหมิด” หรือเปล่าผมไม่ทราบ

แต่เมื่อผมโตพออ่านหนังสือออกแล้ว ผมก็เห็นเขาเขียนชื่อแม่ว่า “นางเหมิด”

ถ้าแม่ไม่ยอมเป็น “นางเหมิด” 

ผมคงจะไม่ได้เกิดมาเป็นทองย้อย !

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ มีนาคม ๒๕๕๘

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *