นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ (บาลีวันละคำ 1,036)
นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ
ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ
อ่านว่า :
นิก-คัน-เห นิก-คะ-หา-ระ-หัง
ปัก-คัน-เห ปัก-คะ-หา-ระ-หัง
หลักความรู้ :
(1) คำที่เขียนว่า –คณฺเห อักขรวิธีบางฉบับท่านให้เขียนเป็น –คเณฺห คือย้ายสระเอ ไปอยู่หน้า ณฺ
(2) คณฺเห (หรือ –คเณฺห) พบในที่บางแห่งบอกคำอ่านว่า คัน-นะ-เห โปรดทราบว่าคลาดเคลื่อน
(3) คณฺเห (หรือ –คเณฺห) อ่านว่า คัน-เห หรือจะออกเสียงเป็น คัน-เหฺน (ห นำ ไม่ใช่ เห-นะ) ก็ได้
(๑) “นิคฺคณฺเห” เป็นคำกริยา ปฐมบุรุษ เอกพจน์
คำที่เป็นหลักคือ นิ (เข้า, ลง, ไม่มี, ออก) + คหฺ (ธาตุ = ถือ, จับ, ยึด) = นิคฺคห (จากนี้ลงวิภัตติปัจจัยต่อไปตามกฎไวยากรณ์)
“นิคฺคห” (นิก-คะ-หะ) แปลตามศัพท์ว่า “ถือลง” หมายถึง ข่ม, ควบคุม, ตำหนิ, ติเตียน, กล่าวโทษ (restraint, control, rebuke, censure, blame)
(๒) “ปคฺคณฺเห” เป็นคำกริยา ปฐมบุรุษ เอกพจน์เช่นกัน ประกอบด้วย ป (ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + คหฺ ธาตุ = ปคฺคห (กรรมวิธีต่อไปเช่นเดียวกับ นิคฺคณฺเห)
“ปคฺคห” (ปัก-คะ-หะ) แปลตามศัพท์ว่า “ถือไว้ข้างหน้า” หมายถึง ยก, ความเพียร, ความพยายาม (lift, exertion, energy); ความเอื้อเฟื้อ, ความกรุณา, ให้ความอุปถัมภ์, ยกย่อง (favour, kindness, patronage, praise)
(๓) “นิคฺคหารหํ” เป็นคำนาม ประกอบด้วย นิคฺคห + อรห (คู่ควร, เหมาะสม, สมควรได้รับ, มีค่า) = นิคฺคหารห หมายถึง คู่ควรแก่การข่ม
(๔) “ปคฺคหารหํ” เป็นคำนาม ประกอบด้วย ปคฺคห + อรห = ปคฺคหารห หมายถึง คู่ควรแก่การยกย่อง
“นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ” เป็นคำกลอน (บาลีเรียกว่า “คาถา” หรือ “ฉันท์”) ตอนหนึ่งในคัมภีร์ชาดก ชื่อ “เตสกุณชาดก” (พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 2442) แปลเป็นไทยว่า “พึงข่มผู้ที่ควรข่ม พึงยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง”
คำกลอนหรือคาถา 2 วรรคนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเมื่อผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันนำมาเป็นคำขวัญของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นตั้งแต่ พ.ศ.2493
ในภาษาช่างจักสานมีคำว่า “ข่ม” และ “ยก” เป็นสูตรการสานภาชนะเช่นกระบุง กระด้งให้เป็นลายต่างๆ เช่น “ยกสองข่มสอง” หมายความว่าใช้ตอกเส้นขวางทับไปบนตอกเส้นตั้ง (คือ “ข่ม”) 2 เส้น และสอดใต้ตอกเส้นตั้ง (คือ “ยก”) 2 เส้น ดังนี้เป็นต้น คำว่า “ข่ม” และ “ยก” ดังกล่าวนี้ดูสอดคล้องกับคำว่า นิคฺคห = ข่ม ปคฺคห = ยก ชอบกลอยู่
นิคฺคห = ข่ม ปคฺคห = ยก เป็นวิธีที่ผู้อยู่ร่วมกันเป็นสังคมปฏิบัติต่อกันตามควรแก่กรณี
: สังคมใด ยกผู้ที่ไม่ควรชม ข่มผู้ที่ไม่ควรชัง
: สังคมนั้น มักจะพังเป็นธรรมดา
20-3-58
ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย