อัฏฐบาน (บาลีวันละคำ 4,653)

อัฏฐบาน
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
อ่านว่า อัด-ถะ-บาน
ประกอบด้วยคำว่า อัฏฐ + บาน
(๑) “อัฏฐ”
เขียนแบบบาลีเป็น “อฏฺฐ” (มีจุดใต้ ฏ) อ่านว่า อัด-ถะ เป็นคำสังขยา (คำนับจำนวน) แปลว่า แปด (จำนวน 8)
(๒) “บาน”
บาลีเป็น “ปาน” อ่านว่า ปา-นะ รากศัพท์มาจาก ปา (ธาตุ = ดื่ม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ปา + ยุ > อน = ปาน แปลตามศัพท์ว่า “อันควรดื่ม” หมายถึง น้ำดื่ม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาน” ว่า drink, including water as well as any other liquid (เครื่องดื่ม รวมถึงน้ำและของเหลวชนิดอื่นๆ)
ในภาษาไทยใช้ทั้ง “ปาน” และ “บาน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ปาน ๑, ปานะ : (คำแบบ) (คำนาม) เครื่องดื่ม, นํ้าสำหรับดื่ม. (ป.).
(2) บาน ๑, บาน– : (คำนาม) น้ำสำหรับดื่ม, เครื่องดื่ม เช่น สุราบาน ชัยบาน อัฐบาน. (ป., ส. ปาน).
อฏฺฐ + ปาน = อฏฺฐปาน (อัด-ถะ-ปา-นะ) แปลว่า “น้ำอันควรดื่มแปดอย่าง”
“อฏฺฐปาน” ในภาษาไทยใช้ทั้ง “อัฏฐบาน” (คงตัวสะกดไว้) และ “อัฐบาน” (ตัดตัวสะกดออก) ในที่นี้คงตัวสะกดไว้เหมือนบาลี ใช้เป็น “อัฏฐบาน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัฏฐบาน : (คำนาม) น้ำที่คั้นจากผลไม้ มี ๘ อย่าง คือ น้ำมะม่วง น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า น้ำกล้วยมีเม็ด น้ำกล้วยไม่มีเม็ด น้ำมะซาง น้ำลูกจันทน์หรือน้ำองุ่น น้ำเหง้าอุบล น้ำมะปรางหรือน้ำลิ้นจี่, เขียนว่า อัฐบาน ก็มี.”
คำบาลี “อฏฺฐปาน” เขียนแบบคำอ่านว่า “อัฏฐปานะ” คนเก่าเรียกว่า “น้ำอัฏฐบาน” เดี๋ยวนี้นิยมเรียกกันว่า “น้ำปานะ”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายเรื่อง “อัฏฐบาน” ไว้ที่คำว่า “ปานะ” ขอยกมาประกอบการศึกษา (ขออนุญาตปรับย่อหน้าวรรคตอน เพื่อให้อ่านง่าย) ดังนี้ –
…………..
ปานะ : เครื่องดื่ม, น้ำสำหรับดื่ม โดยเฉพาะที่คั้นจากลูกไม้ (รวมทั้งเหง้าพืชบางชนิด), น้ำคั้นผลไม้ (จัดเป็นยามกาลิก); มีพุทธานุญาตปานะ ๘ อย่าง (นิยมเรียกเลียนเสียงคำบาลีว่า อัฏฐบาน หรือ น้ำอัฏฐบาน) พร้อมทั้งน้ำคั้นพืชต่าง ๆ ดังพุทธพจน์ว่า (วินย.๕/๘๖/๑๒๓) “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ปานะ ๘ อย่าง คือ
๑. อมฺพปานํ น้ำมะม่วง
๒. ชมฺพุปานํ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
๓. โจจปานํ น้ำกล้วยมีเม็ด
๔. โมจปานํ น้ำกล้วยไม่มีเม็ด
๕. มธุกปานํ น้ำมะซาง
๖. มุทฺทิกปานํ น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น
๗. สาลุกปานํ น้ำเหง้าอุบล
๘. ผารุสกปานํ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่,
…เราอนุญาตน้ำผลไม้ (ผลรส) ทุกชนิด เว้นน้ำผลธัญชาติ,
…เราอนุญาตน้ำใบไม้ (ปัตตรส) ทุกชนิด เว้นน้ำผักต้ม,
…เราอนุญาตน้ำดอกไม้ (บุปผรส) ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง,
…เราอนุญาตน้ำอ้อยสด (อุจฉุรส)”
พึงทราบคำอธิบายเพิ่มเติมว่า น้ำผลธัญชาติที่ต้องห้าม ได้แก่น้ำจากผลของ ธัญชาติ ๗ เช่น เมล็ดข้าว (น้ำซาวข้าว, น้ำข้าว) นอกจากนั้น ผลไม้ใหญ่ (มหาผล) ๙ ชนิด (จำพวกผลไม้ที่ทำกับข้าว) ได้แก่ ลูกตาล มะพร้าว ขนุน สาเก (“ลพุช” แปลกันว่า สาเก บ้าง ขนุนสำมะลอ บ้าง) น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม ฟักทอง และพวก อปรัณณะ เช่น ถั่วเขียว ท่านจัดอนุโลมเข้ากับธัญผล เป็นของต้องห้ามด้วย;
จะเห็นว่า มะซางเป็นพืชที่มีข้อจำกัดมากสักหน่อย น้ำดอกมะซางนั้นต้องห้ามเลยทีเดียว ส่วนน้ำผลมะซางจะฉันล้วน ๆ ไม่ได้ ต้องผสมน้ำ จึงจะควร ทั้งนี้เพราะกลายเป็นของเมาได้ง่าย
วิธีทำปานะที่ท่านแนะไว้ คือ ถ้าผลยังดิบ ก็ผ่าฝานหั่นใส่ในน้ำ ให้สุกด้วยแดด ถ้าสุกแล้ว ก็ปอกหรือคว้าน เอาผ้าห่อ บิดให้ตึงอัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า เติมน้ำลงให้พอดี (จะไม่เติมน้ำก็ได้ เว้นแต่ผลมะซางซึ่งท่านระบุว่าต้องเจือน้ำจึงควร) แล้วผสมน้ำตาลและเกลือเป็นต้นลงไปพอให้ได้รสดี
ข้อจำกัดที่พึงทราบคือ
๑. ปานะนี้ให้ใช้ของสด ห้ามมิให้ต้มด้วยไฟ ให้เป็นของเย็นหรือสุกด้วยแดด (ข้อนี้พระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า ในบาลีไม่ได้ห้ามน้ำสุก แม้สุกก็ไม่น่ารังเกียจ)
๒. ต้องเป็นของที่อนุปสัมบันทำ จึงควรฉันในเวลาวิกาล (ถ้าภิกษุทำ ถือเป็นเหมือนยาวกาลิก เพราะรับประเคนมาทั้งผล)
๓. ของประกอบเช่นน้ำตาลและเกลือ ไม่ให้เอาของที่รับประเคนค้างคืนไว้มาใช้ (แสดงว่ามุ่งให้เป็นปานะที่อนุปสัมบันทำถวายด้วยของของเขาเอง)
ในมหานิทเทส (ขุ.ม.๒๙/๗๔๒/๔๔๙) ท่านแสดงปานะ ๘ (อัฏฐบาน) ไว้ ๒ ชุด ชุดแรกตรงกับที่เป็นพุทธานุญาตในพระวินัย ส่วนชุดที่ ๒ อันต่างหาก ได้แก่ น้ำผลสะคร้อ น้ำผลเล็บเหยี่ยว น้ำผลพุทรา ปานะทำด้วยเปรียง ปานะน้ำมัน ปานะน้ำยาคู (ยาคุปานะ) ปานะน้ำนม (ปโยปานะ) ปานะน้ำคั้น (รสปานะ),
ในพระวินัย เคยมีเรื่องที่พราหมณ์ผู้หนึ่งจัดถวายปโยปานะ คือปานะน้ำนม แก่สงฆ์ (ในเรื่องไม่แจ้งว่าเป็นเวลาใด) และภิกษุทั้งหลายดื่มน้ำนมมีเสียงดัง “สุรุสุรุ” เป็นต้นบัญญัติแห่งเสขิยวัตรสิกขาบทที่ ๕๑ (วินย.๒/๘๕๑/๕๕๓)
…………..
แถม :
ปัจจุบันมีเครื่องดื่มและเครื่องปรุงที่ชงเป็นเครื่องดื่มที่ผลิตขึ้นใหม่ ๆ หลากหลายชนิดนอกเหนือไปจากเครื่องดื่ม 8 ชนิดที่ระบุไว้ในคัมภีร์ เวลานำไปถวายพระภิกษุสามเณรก็เรียกคลุม ๆ ไปว่า “น้ำปานะ”
ปัญหาก็คือ เครื่องดื่ม/เครื่องปรุงชนิดไหนบ้างที่พระภิกษุสามเณรควรดื่มหรือไม่ควรดื่มในเวลาวิกาลคือหลังเที่ยงวันไปแล้ว ขณะนี้ดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสำนัก ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจว่ายังไม่มีมาตรฐานกลางของคณะสงฆ์
ถ้าคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมจะกรุณานำปัญหาเรื่องน้ำปานะเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดมาตรฐานกลางของคณะสงฆ์ พระภิกษุสามเณรจะได้ถือปฏิบัติให้ตรงกันเป็นเอกภาพทั่วสังฆมณฑล ก็จะเป็นที่น่าอนุโมทนาสาธุการเป็นที่ยิ่ง
หรือถ้าคณะสงฆ์ไทยได้เคยพิจารณากำหนดมาตรฐานกลางของคณะสงฆ์เกี่ยวกับกรณีนี้ไว้แล้ว ถ้ามหาเถรสมาคม/สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะนำข้อกำหนดนั้นมาเผยแพร่เป็นการทบทวนย้ำเตือนให้รู้ทั่วกันก็จะเป็นการดีนักหนา
ผู้เขียนบาลีวันละคำหวังใจว่า เทวดาที่รักษาพระพุทธศาสนาคงจะกำลังสอดส่องทิพยเนตรสังเกตเรื่องนี้อยู่เป็นแน่
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สัตว์ มองลัดแค่-กิน
: คนทั่วไป มองไกลไปที่-วิธีหากิน
: บัณฑิต มองพินิจลงไปว่า-ควรกินหรือไม่ควรกิน
#บาลีวันละคำ (4,653)
9-3-68
…………………………….
…………………………….