รดน้ำ – บาลีว่าอย่างไร (บาลีวันละคำ 1,413)
รดน้ำ – บาลีว่าอย่างไร
คำว่า “รดน้ำ” ในที่นี้หมายถึง “หลั่งนํ้าในพิธีต่าง ๆ เช่น รดน้ำบ่าวสาวในพิธีแต่งงาน รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554)
“รดน้ำ” ตามความหมายนี้ คำบาลีที่เป็นอาการนามสามัญคือ “สิญฺจน” อ่านว่า สิน-จะ-นะ
“สิญฺจน” รากศัพท์มาจาก สิจฺ (ธาตุ = รด, ราด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) ลงนิคหิตอาคมที่ สิ-(จฺ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น ญฺ (สิจฺ > สึจฺ > สิญฺจ)
: สิจฺ > สึจฺ > สิญฺจ + ยุ > อน = สิญฺจน แปลตามศัพท์ว่า “การรดน้ำ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า sprinkling (water) (หลายท่านเห็นคำอังกฤษแล้วเข้าใจความหมายของคำบาลีได้ชัดเจนขึ้น)
คำว่า “สิญฺจน” นี่เองที่เอามาใช้ในภาษาไทยว่า “สายสิญจน์” อ่านว่า สาย-สิน เมื่อรู้รากศัพท์แล้วคงช่วยให้เข้าใจได้ว่าคำที่ออกเสียงว่า สาย-สิน ทำไมจึงเขียนอย่างนี้
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สิญจ-, สิญจน์ : (คำกริยา) รดนํ้า; รดนํ้ามนต์, สรงมุรธาภิเษก. (ป., ส.).
(2) สายสิญจน์ : (คำนาม) ด้ายดิบสีขาวที่นำมาจับทบเป็น ๓ เส้น หรือ ๙ เส้น ใช้ในพิธีทางศาสนา เช่นสำหรับพระถือในเวลาสวดมนต์ หรือพราหมณ์ใช้ในพระราชพิธีบางอย่าง.
ในพิธีที่มีการทำ “น้ำมนต์” เดิมทีพระสงฆ์จะจับภาชนะใส่น้ำไว้ด้วยในระหว่างเจริญพระพุทธมนต์ แต่ในกรณีมีพระสงฆ์หลายรูป ก็ไม่สามารถเข้ามาจับภาชนะได้หมดทุกรูป จึงใช้ด้ายผูกที่ภาชนะแล้วให้พระสงฆ์จับด้ายแทน เป็นกิริยาว่าได้จับภาชนะใส่น้ำนั้นด้วยแล้ว จึงเรียกด้ายนั้นว่า “สายสิญจน์” แปลว่า “ด้าย (ผูกภาชนะใส่) น้ำสำหรับรด”
ต่อมาแม้จะใช้ด้ายชนิดนี้เพื่อการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการรดน้ำ ก็ยังเรียกติดปากว่า “สายสิญจน์”
จากรากศัพท์ (ธาตุ) ว่า “สิจฺ” นอกจากเป็น สิญฺจน > สายสิญจน์ แล้วยังปรุงรูปเป็นคำอื่นต่อไป ที่เราคุ้นในภาษาไทยก็อย่างเช่น เสก อภิเษก พุทธาภิเษก มูรธาภิเษก เป็นต้น
ความหมายเดิมของคำพวกนี้เกี่ยวกับการรดน้ำทั้งสิ้น แต่เมื่อใช้กันนานไปความหมายก็กลายหรือขยายตัวออกไป จนบางทีไม่เหลือเค้าของความหมายเดิม
……..
: ทำบุญ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ต้องรอไปกว่าจะถึงสงกรานต์
: ทำดีต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นน้ำทิพย์วิเศษสุด รดให้กันได้ทุกวันวาร
14-4-59