สาย (บาลีวันละคำ 1,040)
สาย
สายไทยมาจากสายบาลี ?
ในภาษาบาลี คำว่า “สาย” อ่านว่า สา-ยะ รากศัพท์มาจาก :
(1) สา (ธาตุ = จบ, สิ้น) + ย ปัจจัย = สาย แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่กลางวันวิ้นสุด”
(2) สา (สิ้นสุด) + อยฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย = สาย แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ทำกลางวันให้สิ้นไป”
“สาย” มักใช้ในฐานเป็นกริยาวิเศษณ์ (บาลี : กิริยาวิเสสนะ = adverb) ในรูป “สายํ” (สา-ยัง) แปลว่า เวลาเย็น, ในเวลาเย็น (evening) ตรงกันข้ามกับ “ปาโต” ในเวลาเช้า (in the morning, early)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ที่คำว่า “สาย ๑” ว่า –
(1) (คำนาม) เวลาระหว่างเช้ากับเที่ยงประมาณ ๙.๐๐ น. ถึง ๑๐.๐๐ น. เช่น พอสายก็ออกเดินทาง.
(2) (คำวิเศษณ์) ช้ากว่าเวลาที่กําหนด, ล่าช้า, เช่น มาทำงานสาย,
(3) โดยปริยายหมายความว่า พ้นเวลาที่จะแก้ไข, สุดที่จะแก้ไขได้ เช่น เรื่องนี้ทำอะไรไม่ได้ สายเกินไปเสียแล้ว.
ในบาลีมีคำว่า “อติสายํ” (อะ-ติ-สา-ยัง) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “อติสายํ” ว่า too late
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำว่า too late ว่า –
aticirāyita อติจิรายิต (อะ-ติ-จิ-รา-ยิ-ตะ) = ชักช้าเหลือเกิน (หมายถึงไม่ไปหรือไม่มาถึงตามเวลาที่กำหนดหรือที่ควรจะเป็น ไม่ใช่หมายถึงเดินช้าหรือพาหนะแล่นช้า)
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้แปลคำว่า too late ว่า อติสายํ
อภิปราย :
๑ คำว่า “สาย” ในภาษาไทยหมายถึง “เวลาระหว่างเช้ากับเที่ยง” ในขณะที่ “สาย” (สายํ) ในบาลีหมายถึงเวลาเย็น จะเห็นได้ว่าความหมายต่างกันมาก “สาย” ไทยไม่น่าจะมาจาก “สาย” บาลี
๒ ถ้า “สาย” หมายถึง “ช้ากว่าเวลาที่กําหนด” (late, too late) ซึ่งตรงกับ “อติสายํ” ในบาลี ก็ชวนให้จินตนาการว่า คำนี้อาจมาจากวัฒนธรรมการทำมาหากิน กล่าวคือ คนไทยถือว่าเวลาเช้ามืดก่อนตะวันขึ้นเป็นกำหนดเวลาที่ออกไปทำมาหากิน ถ้าตะวันขึ้นสูงแล้วจึงออกก็เรียกว่า “สาย” (too late) แต่คนที่ใช้ภาษาตระกูลอินเดีย-ยุโรป อาจจะมีกิจกรรมสำคัญประจำวันที่นิยมนัดหมายเวลากันในตอนเย็น (สายํ = เวลาเย็น) ถ้ามีการผิดเวลาจึงเรียกว่า “อติสายํ” (too late)
๓ ทั้ง “สาย” ไทย และ “(อติ)สาย” บาลี มีความหมายร่วมที่คำว่า too late ตรงกัน โดยไม่เกี่ยวกับเวลาเช้าสายบ่ายเย็น นับว่าเป็นความคลี่คลายของสำนวนภาษาที่น่าพิจารณา
ทั้งนี้โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชมโดยทั่วกัน
: ทำความดี ไม่มีคำว่าสาย
: คำความร้าย ก็ไม่สายถ้าจะเลิกทำ
————–
(อนุวัติตามคำสงสัยของ ลิขิต จันทร์นพเก้า)
24-3-58