บาลีวันละคำ

เช้า-เพล (บาลีวันละคำ 1,039)

เช้าเพล

คำว่า เช้าเพล หมายถึงเวลาฉันอาหารของพระภิกษุสามเณร ที่ปกติฉัน 2 มื้อ คือ :

(1) มื้อเช้า วัดทั่วไปที่พระ-เณร ฉันรวมกันมักกำนดเวลาประมาณ 7 นาฬิกาถึง 8 นาฬิกา

(2) มื้อเพล กำหนดเป็นมาตรฐานในเวลา 11 นาฬิกาถึงเที่ยง สัญญาณที่รู้กันดีในวัฒนธรรมไทย คือ “กลองเพล

ฉันเช้าฉันเพลแบบนี้เราเข้าใจกันว่า “ฉันสองมื้อ

ถ้าพูดถึงพระภิกษุสามเณรรูปใดหรือวัดใดว่า “ฉันมื้อเดียว” ก็เข้าใจกันว่าฉันเช้าแล้วไม่ฉันเพล หรือไม่ฉันเช้าแต่ฉันเพลมื้อเดียว หรือจะฉันในเวลาใดตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงเที่ยงก็ฉันเพียงมื้อเดียว ไม่มีมื้อเช้ามื้อเพล

มีคำเรียกวิถีชีวิตของนักบวชในพระพุทธศาสนาคำหนึ่งว่า “เอกภตฺติก” (เอ-กะ-พัด-ติ-กะ) แปลว่า “ผู้มีอาหารมื้อเดียว” ทำให้บางท่านหรือส่วนมากเข้าใจไปว่า พระภิกษุสามเณรต้องฉันมื้อเดียว (ตามมื้ออาหารที่กล่าวข้างต้น) จึงจะถูกต้องตามพุทธประเพณี

ควรทราบ :

ในอินเดียครั้งยังเป็นชมพูทวีป ชาวบ้านกินอาหารกัน 2 มื้อ คือ :

(1) มื้อเช้า คือตั้งแต่อรุณขึ้น ไปจนถึงเที่ยงวัน เรียกว่า “ปาตราส

(2) มื้อเย็น คือหลังเที่ยงไปแล้ว จนถึงก่อนอรุณขึ้นวันใหม่ เรียกว่า “สายมาส

(๑) “ปาตราส” (ปา-ตะ-รา-สะ) รากศัพท์มาจาก ปาต (เวลาเช้า) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, ลบ , ลง อาคม, ยืดเสียง อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (ภาษาสูตรไวยากรณ์ว่า “ทีฆะสระหลัง”)

: ปาต + + อสฺ = ปาตรส > ปาตราส แปลตามศัพท์ว่า “อาหารที่พึงกินในเวลาเช้า” หมายถึง อาหารเช้า, อาหารมื้อเช้า (morning food, breakfast)

(๒) “สายมาส” (สา-ยะ-มา-สะ) รากศัพท์มาจาก สายํ (เวลาเย็น) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น , ยืดเสียง อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา

: สายํ > สายม + อสฺ = สายมส > สายมาส แปลตามศัพท์ว่า “อาหารที่พึงกินในเวลาเย็น” หมายถึง อาหารเย็น, อาหารค่ำ (dinner, supper)

บรรพชิตในพระพุทธศาสนาถือการฉันอาหารเพียงมื้อเดียว คือมื้อ “ปาตราส” ไม่ฉันในมื้อ “สายมาส” จึงมีคำเรียกว่า “เอกภตฺติก” = ผู้มีอาหารมื้อเดียว

แต่ “ปาตราส” นั้น ตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงเที่ยงวันจะฉันกี่ครั้งก็ได้ ดังที่พระภิกษุสามเณรทั่วไปในเมืองไทยฉันเช้าแล้วฉันเพล คือฉัน 2 ครั้ง อย่างนี้ก็ยังคงเรียกว่า “เอกภตฺติก” = ผู้มีอาหารมื้อเดียว อยู่นั่นเอง

ฉันสองมื้อหรือฉันมื้อเดียวตามความเข้าใจของคนไทยทั่วไปจึงนับว่ายังคลาดเคลื่อนกับความหมายของ “ฉันมื้อเดียว” ตามวัฒนธรรมของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา

ปริศนาธรรม : “พระอดเพล เณรอดเช้า

(1) สามเณรที่ตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมมักดูตำราจนดึกดื่นและตื่นสาย ไปบิณฑบาตไม่ทัน จึงทำให้ไม่ได้ฉันเช้า นี่คือ “เณรอดเช้า

(2) พระภิกษุที่ปกครองสามเณรรู้ว่าเณรดูตำราจนดึกดื่น จะปลุกก็เป็นห่วงว่าเณรจะจำวัดไม่เต็มตื่นจึงปล่อยให้จำวัดไปตามสบาย ครั้นถึงเวลาเพลจะฉันอาหารที่เก็บไว้ฉันมื้อเพลก็สงสารเณรที่อดมื้อเช้ามาแล้ว จึงสละอาหารนั้นให้เณร ตัวเองยอมอดมื้อเพล นี่คือ “พระอดเพล

ตีความปริศนาธรรม :

๑ เมื่อยังอยู่ในวัยรุ่น ควรรู้จักอดความอยากต่างๆ เช่น อยากเล่น อยากเที่ยว อยากสนุก มุ่งมั่นศึกษาหาวิชาความรู้อันเป็นเสมือนอุปกรณ์ในการตั้งเนื้อตั้งตัวไว้ให้พร้อม = “เณรอดเช้า

๒ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ตั้งเนื้อตั้งตัวได้แล้ว ควรรู้จักอดใจที่มุ่งจะเสพเสวยความสุขแต่เพียงส่วนตัว หากแต่ควรใช้ทรัพยากรและศักยภาพที่มีอยู่ของตนเอื้อเฟื้อเกื้อกูลสนับสนุนคนรุ่นหลังที่ยังอ่อนแรงช่วยให้เข้มแข็งขึ้นตามลำดับ ตลอดจนค้ำจุนดูแลคนรุ่นก่อนที่นับวันจะหมดแรงลงไป = “พระอดเพล

ถ้ารู้จักประพฤติตนในแบบ “พระอดเพล เณรอดเช้า” เช่นนี้ วิถีชีวิตของคนในสังคมก็จะดำเนินไปในลักษณะเกื้อกูลหนุนนำกันไป ทำให้ดำรงอยู่และดำเนินก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน

: ถ้าพระไม่ยอมอดเพล เณรไม่ยอมอดเช้า

: สังคมเรา-ก็ตัวใครตัวมัน

23-3-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย