บาลีวันละคำ

ทุนสามานย์ (บาลีวันละคำ 1,041)

ทุนสามานย์

อ่านว่า ทุน-สา-มาน

ประกอบด้วยคำว่า ทุน + สามานย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ทุน” ไว้ว่า –

(1) ของเดิมหรือเงินเดิมที่มีไว้ ลงไว้ กําหนดไว้ จัดตั้งไว้ เพื่อประโยชน์ให้งอกงาม เช่น มีความรู้เป็นทุน มีเงินเป็นทุน.

(2) เงินหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ตั้งไว้สําหรับดําเนินกิจการเพื่อหาผลประโยชน์.

และบอกความหมายของคำว่า “สามานย์” ไว้ว่า –

(1) สามานย์ : (คำวิเศษณ์) เลวทรามตํ่าช้า เช่น ลูกสามานย์ทำร้ายพ่อแม่, มักใช้เข้าคู่กับคำ ชั่วช้า เป็น ชั่วช้าสามานย์. (ส. สามานฺย).

(2) สามานย– : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น สามานยนาม. (ส. สามานฺย; ป. สามญฺญ).

สามานย์” บาลีเป็น “สามญฺญ” (สา-มัน-ยะ) มีรากศัพท์ดังนี้ :

(1) สมาน (สะ-มา-นะ, = เสมอกัน, เหมือนกัน, เหมาะสมกัน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ยืดเสียง – (ที่ สมาน) เป็น สา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย, แปลง อาน (ที่ –มาน) กับ เป็น ญฺญ

: สมาน > สามาน + ณฺย > : สามาน + = สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน” หมายถึง (1) เหมือนกัน, เสมอกัน, เท่ากัน, อย่างเดียวกัน (similar, equal, even, same) (2) สามัญ, ความเสมอกัน, การอนุวัตตาม; ความเป็นหนึ่ง, วงสมาคม (generality; equality, conformity; unity, company)

(2) สมณ (สะ-มะ-นะ, = นักบวช, นักพรต) + ณฺย ปัจจัย (กฎการแปลงทำนองเดียวกับ สมาน + ณฺย)

: สมณ > สามณ + ณฺย > : สามณ + = สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นสมณะ” คือ ภาวะแห่งนักบวช, ชีวิตของนักพรต (true Samaṇaship, the life of the recluse)

สามญฺญ ในภาษาไทยใช้ 2 รูป คือ :

(1) “สามัญ” (สา-มัน) มักใช้ตามความหมายที่แสดงรากศัพท์ในข้อ (1) เป็นส่วนมาก

(2) “สามานย์” (สา-มาน) รูปนี้เขียนตามสันสกฤต “สามานฺย” ความหมายตาม พจน.54 ที่แสดงไว้ข้างต้น

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ, ความหมายที่ท่านให้ไว้ในภาษาไทยบางคำเข้าใจยาก ถ้าดูภาษาอังกฤษอาจช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น)

(1) สามานฺย : (คุณศัพท์) ‘สามานยะ’ สาธารณะ; common.

(2) สามานฺย : (คำนาม) ‘สามานยะ’ เภท, ประเภท; ชาติธรรม, วิเศษลักษณะ; สามานยทรัพย์; โลกกฤตย์; ชนการย์หรือคณกรรมน์; สากลย์; รูปอลังการศาสตร์; สตรีที่เปนสาธารณะแก่ชายทั้งหลาย, หญิงแพศยา; kind, sort; specific property, generic character, or foremost quality; common property; public affairs or business; totality, the whole; a figure of rhetoric; a female who is common to all men, a harlot.

ทุน + สามานย์ = ทุนสามานย์ เป็นคำผสมแบบไทยที่คิดขึ้นเพื่อใช้เรียกปรากฏการณ์บางอย่างทางสังคม-การเมือง มีความหมายที่เข้าใจง่ายๆ ว่า “ทุนที่ชั่วช้าเลวทราม” คือการใช้เงินหรือผลประโยชน์บางอย่างซื้อตัวบุคคลหรือกิจการบางอย่างเพื่อใช้เป็นช่องทางแสวงหากำไรและผลประโยชน์ส่วนตัวยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

ในทางภาษา พบว่ามีผู้แปล “ทุนสามานย์” เป็นภาษาอังกฤษว่า

Capital nefarious

Capital meretriciously

พจนานุกรมสอ เสถบุตร แปลเป็นไทยไว้ดังนี้ :

(1) capital (แคพ-อิแท็ล) : เงินทุน, ทรัพย์ที่เป็นก้อน, ต้นเงิน

(2) nefarious (นิแฟ-เรียซ) : เลวทราม, ชั่วร้าย, ร้ายกาจ

(3) meretriciously (เมริทรีฌ-อัซลิ) : 1. สามานย์, ชั่วช้า, แพศยา 2. หรูหราแต่ภายนอก

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล capital, nefarious และ meretriciously เป็นบาลีไว้ดังนี้ :

(1) capital : mūladhana มูลธน (มู-ละ-ทะ-นะ) = ทรัพย์ที่เป็นต้นทุน, เงินลงทุน, ทุน

(2) nefarious :

1) atiduṭṭha อติทุฏฺฐ (อะ-ติ-ทุด-ถะ) “ถูกความชั่วประทุษร้ายอย่างหนัก” = สุดโฉดโคตรเลว

2) pāpiṭṭha ปาปิฏฺฐ (ปา-ปิด-ถะ) = ตั้งอยู่ในบาป, ยืนอยู่ในทางชั่ว

(3) meretriciously :

1) vesiyāraha เวสิยารห (เว-สิ-ยา-ระ-หะ) = ควรค่าแก่คนขายตัว

2) bahivibhūsita พหิวิภูสิต (พะ-หิ-วิ-พู-สิ-ตะ) = แต่งแต่ภายนอก, งามแต่เปลือกนอก

3) bahimaṭṭhatāya พหิมฏฺฐตาย (พะ-หิ-มัด-ถะ-ตา-ยะ) = ด้วยการขัดสีฉวีวรรณแต่เปลือก

โปรดพิจารณาเทียบเคียงกันและกันด้วยสติปัญญาเพื่อพัฒนาความเข้าใจให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไป

: ถ้ายอมเป็นทาสสถุล จะมีกี่ทุนก็สามานย์

: ถ้ารู้จักละบาปทำบุญ นั่นแหละเป็นทุนไปนิพพาน

25-3-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย