บาลีวันละคำ

นิสัย (บาลีวันละคำ 1,042)

นิสัย

อ่านว่า นิ-ไส หรือ นิด-ไส ก็ได้

บาลีเป็น “นิสฺสย” อ่านว่า นิด-สะ-ยะ

นิสฺสย” รากศัพท์มาจาก นิ (เข้า,ลง) + สิ (ธาตุ = อยู่) + ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ สิ) เป็น (สูตรเต็มว่า “พฤทธิ์ อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย”), ซ้อน สฺ

: นิ + + สิ > สย = นิสฺสย + = นิสฺสย แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่อาศัยอยู่” หมายถึง สิ่งซึ่งมีสิ่งอื่นต้องอาศัย, เครื่องค้ำจุน, การช่วยเหลือ, การป้องกัน; สิ่งของที่บริจาค, ขุมทรัพย์, สิ่งที่จำเป็น, เครื่องใช้สอย; พื้นฐาน, การให้ความไว้วางใจ (that on which anything depends, support, help, protection; endowment, resource, requisite, supply; foundation, reliance on)

นิสฺสย” บาลี ส สองตัว ภาษาไทยเขียน “นิสัย” ส ตัวเดียว

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “นิสัย” ไว้ว่า –

(1) ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทําจนเป็นนิสัย.

(2) ที่พึ่ง, ที่พักพิง, ที่อาศัย, เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท.

ในภาษาไทย เรามักเข้าใจความหมายของ “นิสัย” ตามข้อ (1) กันเป็นส่วนมาก

นิสัย” ตามความหมายนี้ พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลเป็นอังกฤษว่า habit, disposition

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล habit, disposition เป็นบาลีว่า –

(1) habit :

1) pakati ปกติ (ปะ-กะ-ติ) = ตัวเดิม, ตัวจริงที่ปรากฏอยู่เสมอ

2) sabhāva สภาว (สะ-พา-วะ) = ความจริงที่เป็นของตัวเอง

3) ācāra อาจาร (อา-จา-ระ) = ความประพฤติ

4) dhammatā ธมฺมตา (ทำ-มะ-ตา) = ความเป็นไปตามธรรมชาติ, ธรรมดา

(2) disposition :

1) ajjhāsaya อชฺฌาสย (อัด-ชา-สะ-ยะ) = ความตั้งใจ, ความมีใจโน้มเอียง (คำเดียวกับที่เราใช้ว่า อัชฌาสัย, อัธยาศัย)

2) adhimutti อธิมุตฺติ; (อะ-ทิ-มุด-ติ) = ความมีใจโน้มเอียง

3) pakati ปกติ (เหมือนที่ habit)

โปรดสังเกตว่า ไม่มีคำแปลเป็นบาลีว่า “นิสฺสย

ในบาลี ความหมายของ “นิสฺสย” ที่คุ้นกันดีคือ “ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต สรุปความไว้ว่า –

นิสสัย : ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต 4 อย่าง คือ :

(๑) ปิณฑิยาโลปโภชนะ : โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต รวมทั้งภัตตาหารที่เป็นอติเรกลาภ 10 อย่าง

(๒) บังสุกุลจีวร : ผ้านุ่งห่มที่ทำจากของเขาทิ้ง รวมทั้งผ้าที่เป็นอติเรกลาภ 6 อย่าง

(๓) รุกขมูลเสนาสนะ : ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้ รวมทั้งที่อยู่อาศัยที่เป็นอติเรกลาภ 5 อย่าง

(๔) ปูติมุตตเภสัช : ยาน้ำมูตรเน่า รวมทั้งเภสัชที่เป็นอติเรกลาภ 5 อย่าง

เรียกสั้นๆ ว่า จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช

จะเห็นได้ว่า ถ้ายึดตามพระธรรมวินัย บรรพชิตในพระพุทธศาสนาก็เป็นอยู่ง่ายอย่างยิ่ง และด้วยเครื่องยังชีพเพียงแค่นี้มีผู้เดินทางไปถึงพระนิพพานได้แล้วเป็นจำนวนมากมายเหลือคณานับ

: ไม่ว่า “นิสสัย” บาลี หรือ “นิสัย” ไทย

ถ้าไม่รู้จักฝึกใจ ก็เสียนิสัยทุกที

: ไม่ว่า “นิสัย” ไทย หรือ “นิสสัย” บาลี

ถ้าฝึกใจถูกวิธี นิสัยก็ดีตลอดไป

26-3-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย