ปลาบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้
ปลาบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้
—————————-
๑ คุณ Pokrat Yell Kanoktanaporn มีมิตรใจส่งหนังสือ “มหาเถรประวัติ” มาให้ เป็นหนังสือว่าด้วยประวัติของสมเด็จพระวนรัต (จับ ฐิตธมฺโม ป.ธ.๙) วัดโสมนัสวิหาร
ผมพลิกดูตลอดทั้งเล่มและอ่านหลายๆ ส่วนไปแล้ว
อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วชุ่มชื่นหัวใจครับ
………
… มีอยู่วันหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ประชวร ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬา ท่านไปเยี่ยมโดยมีผมตามไปด้วย ตอนไปเวลาค่ำ มีรถไปส่งแล้วกลับ อยู่ถึง ๔ ทุ่มครึ่งจึงกลับ ท่านกล่าวว่า เณร…เดินกลับนะ เพราะไม่มีรถมารับ ก็ได้เดินออกจากโรงพยาบาล ระหว่างทางเดินมา มีสามล้อถีบ ๓ คันเรียกให้ขึ้นรถ ท่านบอกผมค่อยๆ ว่า เณรอย่าขึ้น เขาต้องใช้กำลังถีบ อย่าใช้เขา เขาต้องเหนื่อย ถ้าเป็นรถยนต์ค่อยขึ้น …. (ความทรงจำเมื่ออยู่วัดโสมนัสวิหาร โดย สมควร ตรีทิพย์)
บางตอนในหนังสือเล่มนี้ที่อ่านแล้วคุ้มค่า มองเห็นปฏิปทาและหัวใจของพระมหาเถระรูปนี้แจ่มชัด
————
เมื่อผมเป็นสามเณรเริ่มเรียนบาลี ได้เห็นชื่อ “พระมหาจับ ฐิตธมฺโม ป.ธ.๙” พร้อมกับพระมหา ป.ธ.๙ อีกหลายรูปในรายชื่อกรรมการฝ่ายวิชาการของมหามกุฏราชวิทยาลัยที่ปรากฏในหนังสือตำราคู่มือการเรียนบาลีทั้งหลายซึ่งมหามกุฏฯ จัดพิมพ์ขึ้น ตอนนั้นฝันไว้ว่า..เราจะมีวาสนามีคำว่า ป.ธ. อะไรสักเลขหนึ่งต่อท้ายชื่อบ้างหรือเปล่าหนอ..
น่าอัศจรรย์ ! วันนี้ผมมี “เพื่อนร่วมรุ่น ป.ธ.๙” รูปหนึ่งที่ดำรงสมณศักดิ์ “สมเด็จพระวันรัต” สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วชุ่มชื่นหัวใจครับ
ขอบพระคุณในมิตรใจของคุณ Pokrat Yell Kanoktanaporn ไว้ ณ ที่นี้
————
๒ คุณ Natchaajeng Khuntave ส่งมีมิตรใจส่งเห็ดหอมและเห็ดหูหนู ๒ ถุง พร้อมทั้งผ้า ๒ ชิ้นมาให้
ได้รับแล้วนึกถึงของถวายสังฆทาน
ของถวายสังฆทานจะหลายหลากมากชนิดอย่างไร ก็รวมอยู่ในของ ๒ อย่างเท่านั้น คือ “ของฉันกับของใช้”
เห็ดหูหนู เป็น “ของฉัน” (ของกิน)
ผ้า ๒ ชิ้น เป็น “ของใช้”
แม้ท่านจะให้มาเป็นปาฏิบุคลิกทาน (ให้เป็นของส่วนตัว) ไม่ใช่สังฆทาน (ให้เป็นของส่วนรวม) ก็ควรแก่การอนุโมทนาในมิตรใจยิ่งนัก
————
ตอนเป็นเด็กผมถูกใช้ให้หิ้วชามแกงไปให้ญาติบ้านเหนือบ้าง ญาติบ้านใต้บ้าง
ตอนนั้นไม่ค่อยเข้าใจอะไรเท่าไร ผู้ใหญ่ใช้ก็ทำไปตามที่ท่านใช้
ตอนนี้เข้าใจแจ่มแจ้ง
“ปลาบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้” หมายความว่าอะไร
สังคมไทยเป็นสังคมแห่งมิตรจิตมิตรใจ
น่าดีใจที่วัฒนธรรมนี้ยังสืบทอดมาจนถึงคนรุ่นเรา
ช่วยกันส่งมอบเป็นมรดกให้ลูกหลานของเราต่อไปนะครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘
…………………………….
…………………………….