บาลีวันละคำ

จันทรุปราคา (บาลีวันละคำ 1,051)

จันทรุปราคา

อ่านว่า จัน-ทฺรุ-ปะ-รา-คา, จัน-ทะ-รุบ-ปะ-รา-คา (ตาม พจน.54)

ข้อสังเกต :

1 ถ้าอ่านว่า -รุ-, ทร ออกเสียงควบเป็น -ทฺรุ- (ไม่ใช่ -ทะ-รุ-)

2 ถ้าอ่านว่า -รุบ-, ทร แยกพยางค์เป็น ทะ-รุบ (ไม่ใช่ -ทฺรุบ-)

ทำไมจึงไม่เป็น -ทฺรุ- และ -ทฺรุบ- ทั้งสองคำ

หรือทำไมจึงไม่เป็น -ทะ-รุ- และ -ทะ-รุบ- ทั้งสองคำ

คงต้องหาคำตอบกันเอาเอง

จันทรุปราคา แยกศัพท์เป็น  จันทร + อุปราคา

(๑) “จันทร” บาลีเป็น “จนฺท” (จัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) จทิ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ, รุ่งเรือง) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุ, แปลงนิคหิตเป็น นฺ, ลบสระที่สุดธาตุ

: จทิ > จํทิ > จนฺทิ > จนฺท + = จนฺท แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ยังสัตว์โลกให้พอใจ” (คือเมื่อเห็นแล้วผู้คนก็ชื่นใจ พอใจ) (2) “ผู้รุ่งเรืองด้วยสิริ” (คือมีแสงสว่างผ่องใส)

(2) ฉนฺท (ความพอใจ) + ปัจจัย, ลบ , แปลง เป็น

: ฉนฺท + = ฉนฺทก > ฉนฺท > จนฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังความพอใจให้เกิด

จนฺท” หมายถึง ดวงจันทร์ (the moon) คำไทยเรียก “เดือน”

บาลี “จนฺท” สันสกฤตเป็น “จนฺทฺร” (จัน-ทฺระ) ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤต

(๒) “อุปราคา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปราคา : (คำนาม) การทําให้ดํา, การทําให้มีมลทิน, ในคําว่า จันทรุปราคา สุริยุปราคา.”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อุปราค” บอกไว้ว่า –

อุปราค : (คำนาม) สูรย์ หรือ จันทร์; ราหู; ทุกข์; ความประพฤติผิด; มรรยาทที่ไม่งาม; ความครหา; an eclipse of the sun or moon; Rāhu or the ascending node; affliction, calamity; misbehaviour, improper conduct; reproach.”

อุปราค” ถ้าเป็นรูปคำบาลี คือ อุป (เข้าไป, ใกล้) + ราค (ย้อมสี, ความกำหนัด) แปลตามศัพท์ว่า “เข้าไปย้อม, เข้าไปทำให้กำหนัด” แปลแบบลากเข้าความว่า “เข้าไปเปลี่ยนสี

เมื่อดูความหมายในสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธานแล้วจะเห็นว่า “จันทรุปราคา” ไม่น่าจะมาจากคำในบาลี (ยังไม่พบคำว่า “จนฺทุปราค” ในคัมภีร์) แต่น่าจะเป็นคำที่มาจากสันสกฤต คือ :

จนฺทฺร + อุปราค = จนฺทฺรุปราค > จันทรุปราคา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จันทรุปราคา : (คำนาม) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน ทําให้เงาของโลกตกลงบนดวงจันทร์บางส่วนหรือทั้งหมด, (ภาษาปาก) จันทรคราส. (ส.).”

ที่คำว่า “จันทรคราส” พจน.54 บอกไว้ว่า –

จันทรคราส : (ภาษาปาก) (คำนาม) ‘การกลืนดวงจันทร์’ ตามความเข้าใจของคนโบราณที่เชื่อว่าพระราหูอมดวงจันทร์, จันทรุปราคา ก็เรียก. (ส.).”

ที่คำว่า “คราส” พจน.54 บอกว่า –

คราส : (คำกริยา) กิน เช่น จันทรคราส สุริยคราส (โบราณ เขียนเป็น จันทรคาธ สุริยคาธ โดยถือว่ามาจากบาลีว่า จนฺทคฺคาห สุริยคฺคาห); จับ, ถือ, เช่น สิบนิ้วคราสคนธกำจร เทียนธูปบวร. (สมุทรโฆษ). (ส.).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “คฺราส” บอกไว้ว่า –

คฺราส : (คำนาม) คำ (ดุจอาหารคำหนึ่ง); ปั้น (ดุจข้าวปั้นหนึ่ง)’ การจับหรือการทับแสง (ดุจสูรย์, จันทร์); a mouthful; a lump (as lump of rice); an eclipse of the sun or moon by Rāhu.”

จันทรุปราคา หรือ จันทรคราส บาลีใช้ศัพท์ว่า “จนฺทคฺคาห” ประกอบด้วย จนฺท (ดวงจันทร์) + คาห (ผู้จับ) ซ้อน คฺ ตามหลักสนธิ

: จนฺท + + คาห = จนฺทคฺคาห (จัน-ทัก-คา-หะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้จับจันทร์” (a moon-eclipse)

ในคัมภีร์บาลีนอกจากมีศัพท์ว่า “จนฺทคฺคาห” แล้วยังมีศัพท์ว่า “สุริยคฺคาห” (ผู้จับตะวัน = สุริยุปราคา) และ “นกฺขตฺตคฺคาห” (ผู้จับดวงดาว) อีกด้วย

: ราหูจับจันทร์ก็จับไป

: ระวังกิเลสจับใจก็แล้วกัน

————–

(ตามคำขอของ ลุงเอก เดียวดาย)

4-4-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย