บาลีวันละคำ

อาณาจกฺก (บาลีวันละคำ 140)

ถิ่นฐานบ้านเมือง

คำบาลีที่มีความหมายถึงถิ่นฐานบ้านเมือง เริ่มจากส่วนย่อยไปหาใหญ่ มีดังนี้ –

1. เคห (เค-หะ) หรือ ฆร (คะ-ระ) แปลว่า “เรือน” หมายถึงบ้านเป็นหลังๆ หรือที่คำเก่าเรียกว่า “หลังคาเรือน” หรือ “ครัวเรือน”

2 .คาม (คา-มะ) แปลว่า “หมู่บ้าน” คือเคหะหรือเรือนหลายๆ หลัง รวมกัน (เทียบคำฝรั่ง เคหะ = house คาม = home)

3. นิคม (นิ-คะ-มะ) คำไทยอ่านว่า นิ-คม แปลตามศัพท์ว่า “หมู่บ้านที่เจริญยิ่ง” หมายถึงหมู่บ้าน (คาม) หลายๆ แห่งรวมกัน ตรงกับที่คำไทยเรียกว่า “ตำบล”

4. ชนปท (ชะ-นะ-ปะ-ทะ) ไทยใช้ว่า “ชนบท” (ชน-นะ-บด) แปลตามศัพท์ว่า “ทางเดินของผู้คน” ในภาษาไทย “ชนบท” มักหมายถึงบ้านนอก คือเขตแดนที่พ้นจากเมืองหลวงออกไป ในภาษาบาลี “ชนปท” เทียบได้กับ “อำเภอ” หรือ “จังหวัด” และในบางแห่งหมายถึง “แคว้น” หรือ “ประเทศ” ด้วย

5 .ราชธานี (รา-ชะ-ทา-นี) ภาษาไทยอ่านว่า ราด-ชะ-ทา-นี แปลว่า “เมืองของพระราชา” ตรงกับที่เราเรียกกันว่า “เมืองหลวง”

6 .รฏฺฐ (รัด-ถะ) ภาษาไทยใช้ว่า “รัฐ” (รัด) แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนที่ผู้คนดำเนินชีวิต” หรือ “ดินแดนที่เป็นเหตุให้ผู้ปกครองทำลายป้อมค่ายของกัน” แปลสั้นๆ ว่า “แว่นแคว้น” เทียบกับในปัจจุบันก็คือ “ประเทศ”

7 .มชฺฌิมปเทส (มัด-ชิ-มะ-ปะ-เท-สะ) ใช้แบบไทยว่า “มัธยมประเทศ” (มัด-ทะ-ยม–) แปลว่า “ถิ่นฐานส่วนกลาง” หมายถึงเขตปกครองส่วนกลางของรัฐ

8. ปจฺจนฺตปเทส (ปัด-จัน-ตะ-ปะ-เท-สะ) เขียนแบบไทยว่า “ปัจจันตประเทศ” (ปัด-จัน-ตะ–) หรือ “ประจันต–” แปลว่า “ถิ่นฐานชายแดน” หมายถึงเขตปกครองนอกเขตส่วนกลาง

สำนวนในคัมภีร์มักกล่าวว่า “…จาริกไปยังคามนิคมชนบทราชธานีน้อยใหญ่”

เวลาพูดถึงหรือไปพบคำเหล่านี้ คงจะพอภาพออกว่าหมายถึงส่วนไหนของถิ่นฐานบ้านเมือง

บาลีวันละคำ (140)

25-9-55

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย