บาลีวันละคำ

เกียรติ (บาลีวันละคำ 1,054)

เกียรติ

บาลีเป็น “กิตฺติ” อ่านว่า กิด-ติ

กิตฺติ” รากศัพท์มาจาก กิตฺตฺ (ธาตุ = กล่าวถึง, พูดด้วยดี) + อิ ปัจจัย

: กิตฺต + อิ = กิตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ความดีอันเขากล่าวถึง” หมายถึง คําเล่าลือ, คําสรรเสริญ, ชื่อเสียง, ความรุ่งโรจน์, เกียรติยศ (fame, renown, glory, honour)

กิตฺติ” สันสกฤตเป็น “กีรฺติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กีรฺตฺติ” และ “กีรฺติ” บอกไว้ดังนี้ :

(สะกดตามต้นฉบับ, ความหมายที่ท่านให้ไว้ในภาษาไทยบางคำเข้าใจยาก ถ้าดูภาษาอังกฤษอาจช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น)

กีรฺตฺติ, กีรฺติ : (คำนาม) เกียรติ, ความบันลือ, ศรี (ยศสฺหรือสง่า), อนุเคราะห์, อนุกูลย์; ธันยวาท; ศัพท์, เสียง; อาภา, โศภา; โคลน, สิ่งโสโครก; ความซ่านทั่ว; มูรติทิพยศักดิ์ของพระกฤษณ; fame, renown, glory; favour; approbation; sound; light, lustre; mud, dirt; diffusion, expansion; one of the Mātrikās or personified divine energies of Krishṇa.”

กิตฺติ > กีรฺติ เราเอามาแปลงรูปตามสูตรไทย คือ “อิ หรือ อี > เอีย

คำที่ประกอบด้วยสระ อิ หรือ อี ในบาลีสันสกฤต กลายรูปและเสียงเป็น เอีย– ในภาษาไทย เช่น –

(1) ขี-, กฺษี– > เกษีย– : ขีณ, กฺษีณ = เกษียณ

(2) ชิ– > เชีย– : วชิร = วิเชียร

(3) สิ-, ศิ– > เศีย– : สิร, ศิร = เศียร

(4) หิ– > เหีย– : พาหิร = พาเหียร

ดังนั้น : กิ-, กี– > เกีย– : กิตฺติ, กีรฺติ = เกียรติ

หมายเหตุ : ในที่นี้ต้องการยกตัวอย่างเสียง อิ หรือ อี ในบาลีสันสกฤตที่กลายรูปและเสียงเป็น เอีย– ในภาษาไทย มิได้ชี้เฉพาะว่าคำนั้นๆ ในภาษาไทยมาจากบาลีหรือมาจากสันสกฤตซึ่งมีรายละเอียดอีกต่างหาก

กิตฺติ เขียนอิงสันสกฤต คือ กีรฺติ > เกียรติ

(1) ถ้าใช้โดดๆ = เกียรติ อ่านว่า เกียด

(2) ถ้ามีศัพท์อื่นมาสมาสข้างท้าย = เกียรติ– อ่านว่า เกียด-ติ- เช่น เกียรติยศ อ่านว่า เกียด-ติ-ยด ไม่ใช่ เกียด-ยด หรือ เกียน-ติ-ยด

(3) ถ้าการันต์ที่ ติ = เกียรติ์– อ่านว่า เกียน เช่น รามเกียรติ์ อ่านว่า ราม-มะ-เกียน

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เกียรติ, เกียรติ-, เกียรติ์ : (คำนาม) ชื่อเสียง, ความยกย่องนับถือ, ความมีหน้ามีตา. (ส. กีรฺติ; ป. กิตฺติ ว่า คำเล่าลือ, คำสรรเสริญ).”

: เกียรติกินไม่ได้

: แต่อิ่มนาน

7-4-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย