บาลีวันละคำ

พลาธิการ (บาลีวันละคำ 1,055)

พลาธิการ

อ่านว่า พะ-ลา-ทิ-กาน

ประกอบด้วย พล + อธิการ

(๑) “พล

บาลีอ่านว่า พะ-ละ รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + ปัจจัย

: พล + = พล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู

พล” ใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ :

(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)

(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)

คำที่เขียนว่า “พล” ในภาษาไทย :

ถ้าใช้ตามลำพังอ่านว่า พน

ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า พน-ละ- ก็มี อ่านว่า พะ-ละ- ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) กําลัง, มักใช้ประกอบคําอื่น เช่น พระทศพล อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มี ฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น.

(2) ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก.

(3) สามัญ, ธรรมดา ๆ, พื้น ๆ, เช่น ของพล ๆ.

(4) ยศทหารและตํารวจสัญญาบัตร รองจากจอมพล (เดิมใช้ว่า นายพล).

(๒) “อธิการ

ภาษาไทยอ่านว่า อะ-ทิ-กาน บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อธิ (ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง กร > การ

: อธิ + กรฺ = อธิกร + = อธิกร > อธิการ แปลตามศัพท์ว่า “ทำอย่างยิ่งใหญ่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อธิการ” ว่า attendance, service, administration, supervision, management, help (การเอาใจใส่หรือติดตาม, การให้บริการ, การบริหาร, การดูแลควบคุม, การจัดการ, การช่วยเหลือ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิการ : (คำนาม) เรียกพระที่ดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาสซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า พระอธิการ, เรียกพระที่ดํารงตําแหน่งพระอุปัชฌาย์หรือเจ้าคณะตําบล ซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า เจ้าอธิการ; ตําแหน่งสูงสุดของผู้บริหารในวิทยาลัย. (ป., ส.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แสดงความหมายของคำว่า “อธิการ” ไว้ดังนี้:

(1) อธิการ : “ตัวการ”, ตัวทำการ, เจ้าการ, เจ้ากรณี, เจ้าของเรื่อง, เรื่องหรือกรณีที่กำลังพิจารณา, เรื่องที่เกี่ยวข้อง, เรื่องที่เป็นข้อสำคัญ หรือที่เป็นข้อพิจารณา

(2) อธิการ : “การอันยิ่ง” คือ –

(ก) การทำความดีที่ยิ่งใหญ่หรืออย่างพิเศษ, บุญหรือคุณความดีสำคัญที่ได้บำเพ็ญมา, ความประพฤติปฏิบัติที่เคยประกอบไว้ หรือการอันได้บำเพ็ญมาแต่กาลก่อน หรือที่ได้สั่งสมตระเตรียมเป็นทุนไว้

(ข) การอันสำคัญหรือที่ทำอย่างจริงจัง อันเป็นการแสดงความเคารพรักนับถือหรือเกื้อกูลตลอดจนโปรดปราน เช่น การบูชา การช่วยเหลือที่สำคัญ การทำความดีความชอบ การให้รางวัล

(3) อธิการ :  อำนาจ, ตำแหน่ง, หน้าที่, กิจการ, ภาระ

พล + อธิการ = พลาธิการ (พะ-ลา-ทิ-กาน) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำการ (เรื่องกินอยู่ใช้สอย) ของกองทัพ

พลาธิการ” เป็นคำไทยที่เอาคำบาลีมาผสมกันแล้วให้ความหมายแบบไทย (ยังไม่พบศัพท์ที่ประกอบรูปเช่นนี้ในคัมภีร์)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พลาธิการ : (คำนาม) หน่วยงานของทหารและตํารวจ มีหน้าที่ควบคุมการจัดที่พัก จัดเครื่องใช้ จัดอาหาร ฯลฯ; (คำโบราณ) หัวหน้ากรมในกองทัพบกซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการนี้.”

………….

ท้องอิ่ม ไม่ใช่หลักประกันว่าจะมีสติปัญญาดี :

: กองทัพเดินได้ด้วยท้อง ผยองด้วยกำลังคนและอาวุธ

: แต่ในที่สุดตัดสินแพ้ชนะเด็ดขาดด้วยกำลังสติปัญญา

————–

8 เมษายน : วันสถาปนากรมพลาธิการทหารเรือ

อภินันทนาการแด่ ผจญ จันทร์ทาทอง นายทหารเหล่าพลาธิการแห่งราชนาวีไทย

8-4-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย