บาลีวันละคำ

รัฐ ราฐ ราษฎร (บาลีวันละคำ 1,053)

รัฐ ราฐ ราษฎร

มาจากคำอะไรในบาลี

(๑) “รัฐ

บาลีเป็น “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –

(1) รฐฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง ฐต เป็น ฏฐ

: รฐฺ + = รฐต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง

(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, แปลง ชต เป็น ฏฐ

: รชิ > รช + = รชต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)

รฏฺฐ” ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง

ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นในคำว่า “รัฐบาล” อ่านว่า รัด-ถะ-บาน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน)

(๒) “ราฐ

คำนี้เข้าใจว่าคงมาจาก “รัฐ” (ซึ่งมาจาก รัฏฐ < รฏฺฐ อีกทีหนึ่ง-ดูข้างต้น)

รัฐ ยืดเสียงเป็น ราฐ ทำนองเดียวกับ ปตฺต (บาลี) > ปตฺร (สันสกฤต) > บาตร : รฏฺฐ > รัฐ > ราฐ อ่านว่า ราด มีความหมายเช่นเดียวกับ รัฐ นั่นเอง

คำที่สะกดอย่างนี้ก็เช่น อำเภอเขมราฐ เมืองเสียมราฐ

(๓) “ราษฎร

เป็นรูปคำสันสกฤต คำเดียวกับ “รฏฺฐ” ในบาลีนั่นเอง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ, ความหมายที่ท่านให้ไว้ในภาษาไทยบางคำเข้าใจยาก ถ้าดูภาษาอังกฤษอาจช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น)

ราษฺฏฺร : (คำนาม) ประเทศ; ราษฎร, ประชา; ชนวิบัททั่วไป; a realm or region, a country; the people; any public calamity.”

แม้ “ราษฎร” (ราษฺฏฺร) จะเป็นคำเดียวกับ “รัฐ” (รฏฺฐ) แต่ในภาษาไทยแยกความหมายกันชัดเจน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) รัฐ, รัฐ

 [รัด, รัดถะ-] (คำนาม) แคว้น เช่น รัฐปาหัง, บ้านเมือง เช่น กฎหมายสูงสุดของรัฐ, ประเทศ เช่น รัฐวาติกัน. (ป. รฏฺฐ; ส. ราษฺฏฺร).

(2) ราษฎร, ราษฎร์

 [ราดสะดอน, ราด] (คำนาม) พลเมืองของประเทศ. (ส.).

(3) ราษฎร์

 (คำนาม) แว่นแคว้น, บ้านเมือง. (ส.; ป. รฏฺฐ).

โปรดสังเกตในพจนานุกรม :

๑ เขียน “รัฐ” อ่านว่า รัด (ไม่ใช่ รัด-ถะ) เขียน “รัฐ-” (มีขีด- ท้าย) หมายถึงกรณีที่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า รัด-ถะ- เช่น รัฐบาล อ่านว่า รัด-ถะ-บาน ไม่ใช่ รัด-บาน

๒ เขียน “ราษฎร” อ่านว่า ราด-สะ-ดอน เขียน “ราษฎร์” (การันต์ที่ ) อ่านว่า ราด

๓ “ราษฎร” (ราด-สะ-ดอน) หมายถึงพลเมืองของประเทศ ไม่ได้หมายถึงแว่นแคว้น, บ้านเมือง แต่ “ราษฎร์” (ราด) หมายถึงพลเมืองของประเทศด้วย หมายถึงแว่นแคว้น, บ้านเมืองด้วย

: แดนดิน ถิ่นฐาน บ้านเมือง ตลอดจนโลกนี้ทั้งโลก

เป็นเพียงที่พักชั่วคราวเพื่อเตรียมตัวเดินทางต่อไป

: โปรดสำรวจให้แน่ใจว่า สิ่งที่เราไขว่คว้า กอบโกย หอบหิ้วไว้นั้น

ใช้เป็นเสบียงสำหรับเดินทางไปสู่ปรโลกได้หรือเปล่า

: สิ่งที่ใช้เป็นเสบียงเดินทางไปสู่ปรโลกได้คือ “บุญ”

บุญนั้นบอกวิธีทำให้กันได้ แต่ทำแทนกันไม่ได้

—————

(ตามคำขอของ Chaiwat Oungkiros‎)

6-4-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย