เรื่องใหญ่ที่เป็นเรื่องเล็ก
เรื่องใหญ่ที่เป็นเรื่องเล็ก
———————–
มีญาติมิตรแชร์เรื่องพุทธทำนายมาให้อ่าน ผมก็ตามไปอ่านสนองไมตรีจิต จึงได้เห็นเรื่องใหญ่ที่เป็นเรื่องเล็กเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ
เรื่องพุทธทำนายที่ว่านี้มีปรากฏในคัมภีร์ชาดก เป็นเรื่องที่คนไทยรู้จักกันมาช้านานแล้ว
เค้าเรื่องย่อๆ ก็คือ พระเจ้าปเสนทิแห่งกรุงสาวัตถีทรงพระสุบินเป็นความประหลาด ๑๖ ข้อ จึงไปทูลถามพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ความฝันข้อนี้ๆ หมายถึงจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นๆ
เหตุการณ์ที่ว่านี้เป็นสภาพของสังคมซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต
ตัวอย่างเช่น ฝันว่าไม้ดอกไม้ผลต้นยังเล็กๆ อยู่ก็ออกดอกออกผล
มีพุทธทำนายว่า ในอนาคตสตรีจะมีลูกตั้งแต่อายุน้อยๆ
อย่างนี้เป็นต้น
ความฝันและพุทธทำนายนั้นมีทั้งหมด ๑๖ เรื่อง
ท่านผู้ต้องการทราบว่าฝันว่าอย่างไร ทายว่าอย่างไร โปรดไปหาอ่านได้ตามที่มาข้างล่างนี้
http://variety.teenee.com/foodforbrain/66845.html
ที่ผมบอกว่าได้เห็นเรื่องใหญ่ที่เป็นเรื่องเล็ก ก็คือในความฝันข้อที่ ๑๕
ข้อความตามต้นฉบับที่นำมาโพสต์ไว้ บอกไว้ว่า
…………
15. ทรงฝันว่า ฝูงพญาหงส์ทองที่มีขนเป็นทอง ถูกแวดล้อมด้วยกา – ทรงทำนายว่า ในอนาคตผู้มีตระกูลต้องไปเที่ยวประจบและสวามิภักดิ์ต่อผู้ไม่มีตระกูล เหมือนหงส์ทองแวดล้อมด้วยกา
…………
ภาพที่วาดประกอบเป็นภาพกาล้อมหงส์
ถ้าไม่สะดวกที่จะตามไปดูต้นเรื่อง ก็โปรดดูภาพที่ผมถ่ายจากเครื่องคอมพิวเตอร์มาให้ดูในที่นี้
————–
โปรดทราบว่า ตามเรื่องในคัมภีร์นั้นความฝันข้อนี้กล่าวถึงหงส์เป็นบริวารแวดล้อมกา
ไม่ใช่หงส์ “ถูกแวดล้อมด้วยกา” หรือ “หงส์ทองแวดล้อมด้วยกา” ดังที่คำบรรยายว่าและอย่างภาพที่เขียนประกอบเรื่อง
เพื่อเป็นการศึกษา ขอยกข้อความในคัมภีร์ชาตกัฏฐกถา (อรรถกถาชาดก) อันเป็นต้นฉบับต้นเรื่องเฉพาะความตอนนี้มาแสดงไว้ในที่นี้
…………
ภนฺเต ทสหิ อสทฺธมฺเมหิ สมนฺนาคตํ คามโคจรํ กากํ
กาญฺจนวณฺณปณฺณตาย สุวณฺณาติ ลทฺธนาเม สุวณฺณราชหํเส
ปริวาเรนฺเต อทฺทสํ (ชาตกัฏฐกถา ภาค ๒ หน้า ๑๘๒-)
…………
เป็นคำของพระเจ้าปเสนทิกราบทูลพระพุทธเจ้า แปลเป็นไทยว่า
…………
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นฝูงพญาหงส์ทอง ที่ได้นามว่า “ทอง” เพราะมีขนเป็นสีทอง พากันแวดล้อมกาผู้ประกอบด้วยอสัทธรรม ๑๐ ประการ เที่ยวหากินตามบ้าน
…………
พูดสั้นๆ หงส์ล้อมกา ไม่ใช่กาล้อมหงส์
————–
เรื่องนี้อาจจะมีผู้มองว่าเป็นเพียงความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร
เป็นเพียงความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ-ก็อาจจะจริง แต่เป็นเรื่องใหญ่ครับ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ
ถ้าลองไปถามผู้เขียนคำบรรยายที่ยกมานี้ว่า ไปเอาคำบรรยายนั้นมาจากไหน
ผู้เขียนคงจะตอบว่า ยกมาหรือลอกมาจากที่นั่นๆ
แล้วถ้าตามไปถามว่า “ที่นั่นๆ” น่ะเอาคำบรรยายมาจากไหน
เราก็อาจจะเจอสถานการณ์แบบ-หาต้นตอไม่เจอ หรือจับมือใครดมไม่ได้
แต่เราจะได้เห็นความจริงที่น่าตกใจ นั่นก็คือ ผู้ที่คัดลอกข้อความเรื่องราวในพระพุทธศาสนาเอามาบอกต่อๆ กันนั้น แทบทั้งหมด-จะว่าทั้งหมดเลยก็ได้-ยกมาหรือลอกมาโดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง
พูดกันตรงๆ ว่า ไม่ได้ตรวจสอบว่าต้นฉบับท่านว่าไว้อย่างไร
คำสอน-ข้อความ-เรื่องราว-ในพระพุทธศาสนาเถรวาทมีต้นฉบับเป็นภาษาบาลี ที่เรารู้จักกันในนามพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ
ไม่ใช่ของเลื่อนลอย หรือใครนึกจะว่าอย่างไรก็ว่ากันไปตามใจชอบ
แต่เราท่านทุกวันนี้ได้สัมผัสรับรู้คำสอน-ข้อความ-เรื่องราวนั้นๆ ผ่านคำบอกเล่ามากกว่าที่จะได้รับรู้จากต้นฉบับโดยตรง
ต้นฉบับบอกว่า “หงส์ล้อมกา”
แต่คำบอกเล่าบอกว่า “กาล้อมหงส์”
เกิดอะไรขึ้น ?
แล้วถ้าไม่ใช่แค่เรื่องราวว่าหงส์ล้อมกา แต่เป็นหลักธรรมคำสอน หลักปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงหรือเพื่อดับทุกข์-แล้วเอามาบอกมาเล่ากลับตาลปัตรหรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนแบบนี้
อะไรจะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา
————–
คนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้
ไม่มีเวลาตรวจสอบ
ถ้ามัวมานั่งตรวจสอบก็ไม่ต้องทำมาหากินอะไรกัน
เรื่องแค่นี้ไม่ทำให้ศาสนาเสื่อมหรอก
ฯลฯ
เป็นเหตุผลที่น่าเห็นใจ
บรรพบุรุษของเราท่านก็เล็งเห็นปัญหานี้ จึงสนับสนุนส่งเสริมให้มีการศึกษาภาษาบาลีกันมาแต่ไหนแต่ไร ด้วยความหวังว่าผู้มีความรู้ภาษาบาลีจะได้เป็นหลักในการถ่ายทอดคำสอนที่ถูกต้อง
ค่านิยมในการเรียนบาลีก็ยังมีอยู่ในสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้
เพียงแต่ว่าทุกวันนี้เบี่ยงเบนไปอย่างน่าเสียดาย
คือเรียนเพื่อสอบได้
พากันชื่นชมยินดีเมื่อสอบได้
และถือว่าบรรลุจุดหมายปลายทางแล้ว
เราจึงมีผู้สอบได้อยู่เต็มเมือง แต่ไม่มีคนที่ตั้งใจเอาความรู้ภาษาบาลีไปตรวจสอบว่า
กาล้อมหงส์หรือหงส์ล้อมกากันแน่
รวมทั้งคำสอน วิธีปฏิบัติ ที่อาจารย์หรือสำนักนั่นโน่นนี่เอามาสอนเอามาเผยแพร่นั้น ต้นฉบับว่าไว้อย่างไรกันแน่
————-
เรื่องกาล้อมหงส์นี้ ถ้าไม่มีใครแก้ อีก ๑๐๐ ปีก็จะกลายเป็นเรื่องถูก
ถึงตอนนั้นคนก็คงจะเอาไปถกเถียงกันว่า บางฉบับว่ากาล้อมหงส์ บางฉบับว่าหงส์ล้อมกา ไม่รู้ว่าจะเชื่อฉบับไหนดี
เรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว เลยกลายเป็นเรื่องคลุมเครือไป
เกิดเรื่องใหญ่ก็เพราะเรานอนใจว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้แล
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๙ เมษายน ๒๕๕๘
…………………………….
…………………………….