บาลีวันละคำ

กามคุณ (บาลีวันละคำ 1,059)

กามคุณ

ภาษาไทยอ่านว่า กาม-มะ-คุน

บาลีอ่านว่า กา-มะ-คุ-นะ

ประกอบด้วย กาม + คุณ

(๑) “กาม” (กา-มะ) รากศัพท์มาจาก กมฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ – เป็น อา

: กมฺ + = กม > กาม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ทำให้ปรารถนา” (2) “อาการที่ปรารถนา” (3)“ภาวะอันสัตวโลกปรารถนา

กาม” หมายถึง –

(1) ความรื่นรมย์, สิ่งที่ให้ความเพลิดเพลิน, สิ่งที่ให้ความบันเทิงทางกาม (pleasantness, pleasure-giving, an object of sensual enjoyment)

(2) ความสนุกเพลิดเพลิน, การพึงพอใจจากการรู้สึก (enjoyment, pleasure on occasion of sense)

(3) ความใคร่ (sense-desire)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กาม, กาม– : (คำนาม) ความใคร่, ความใคร่ทางเมถุน. (ป., ส.).”

(๒) “คุณ” (คุ-นะ) รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + ปัจจัย

: คุณฺ + = คุณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” (2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” (3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม

คุณ” หมายถึง –

(1) เชือก, ด้าย (a string, a cord)

(2) ส่วนที่ประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งที่ประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)

(3) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ  (quality, good quality, advantage, merit)

(4) เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold)

กาม + คุณ = กามคุณ

กามคุณ” ไม่ได้แปลว่า คุณของกาม หรือผลดีของกาม ดังที่นักขบธรรมะบางท่านนิยมให้ความหมาย

กามคุณ” หมายถึง จำนวนของกาม, ประเภทของกาม หรือรายการของสิ่งที่น่าปรารถนา กล่าวเป็นประโยคก็คือ-สิ่งที่สัตวโลกปรารถนาอยากได้คืออะไรบ้าง

โดยทั่วไป สิ่งที่สัตวโลกปรารถนาอยากได้ ท่านประมวลไว้ 5 ประการ เรียกว่า “เบญจกามคุณ” = ความใคร่ 5 ประการ (the 5 strands of kāma, 5-fold craving)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กามคุณ : (คำนาม) สิ่งที่น่าปรารถนามี ๕ ประการ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส; ความปรารถนาในเมถุน. (ป., ส.).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [6] แสดงความหมายของ “กามคุณ” ทั้ง 5 ไว้ดังนี้ :

กามคุณ 5 : (ส่วนที่น่าใคร่น่าปรารถนา, ส่วนที่ดีหรือส่วนอร่อยของกาม — Kāmaguṇa: sensual pleasures; sensual objects)

1. รูปะ (รูป — Rūpa: form; visible object)

2. สัททะ (เสียง — Sadda: sound)

3. คันธะ (กลิ่น — Gandha: smell; odour)

4. รสะ (รส — Rasa: taste)

5. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย — Phoṭṭhabba: touch; tangible object)

ห้าอย่างนี้ เฉพาะส่วนที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ (agreeable, delightful, pleasurable) เรียกว่า กามคุณ

………..

โทษของกาม :

อนนฺตาทีนวา  กามา

กามทั้งหลายมีโทษหาที่สุดไม่ได้

พหุทุกฺขา  มหาวิสา

มีทุกข์มาก มีพิษมาก

อปฺปสฺสาทา  รณกรา

อร่อยน้อย สัประยุทธ์นาน

สุกฺกปกฺขวิโสสนา ฯ

เป็นเหตุให้ความดีงามเหือดแห้งไปจากจิตใจ

เจ้าของวาทะ : สุภาเถรี กัมมารธิดา

(เถรีคาถา พระไตรปิฎกเล่ม 26 ข้อ 471)

12-4-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย