อเนกอนันต์ (บาลีวันละคำ 1,058)
อเนกอนันต์
แยกศัพท์เพื่อจับความ
ศิลปะแห่งการเข้าถึงอรรถรสของคำ
(๑) “อเนก” อ่านว่า อะ-เหฺนก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อเนก, อเนก– : (คำวิเศษณ์) มาก, หลาย, เช่น อเนกประการ. (ป., ส.).”
“อเนก” (บาลีอ่านว่า อะ-เน-กะ) ประสมขึ้นจากคำว่า น (ไม่, ไม่ใช่) + เอก (เอ-กะ, “หนึ่ง” = จำนวน 1)
ตามกฎไวยากรณ์บาลี ถ้าพยางค์แรกของคำที่ “น” ไปประสมด้วย ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อน” (อะ-นะ)
เอก ขึ้นต้นด้วยสระ ดังนั้นจึงต้องแปลง “น” เป็น “อน”
“อน” (อะ-นะ) แยกเป็น 2 พยางค์ คือ “อ” กับ “น”
สระ เอ ที่ เ–ก (เอก) ควบได้แค่พยางค์หลัง คือ “-น” แต่ไม่ควบมาถึงพยางค์หน้า คือ “อ-” จึงเท่ากับ –น + เ–ก
อน + เ–ก จึงต้องเขียน “อเนก” (สระ เอ ควบได้แค่ –น) ไม่ใช่ “เอนก” (สระ เอ ควบ อน)
“อเนก” ตามศัพท์ไม่ได้แปลว่า มาก, หลาย แต่แปลว่า “ไม่ใช่หนึ่ง” (not one)
“ไม่ใช่หนึ่ง” ก็คือมากกว่าหนึ่ง
“มากกว่าหนึ่ง” ย่อมส่อนัยว่ามีจำนวนมาก
ดังนั้น “อเนก” จึงมีความหมายว่า มาก, ต่างๆ กัน, นับไม่ได้, คำนวณไม่ได้ (many, various, countless, numberless)
(๒) “อนันต์” อ่านว่า อะ-นัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อนันต-, อนันต์ : (คำวิเศษณ์) ไม่มีสิ้นสุด, มากล้น, เช่น อนันตคุณ คุณอนันต์. (ป.).”
“อนันต์” บาลีเขียน “อนนฺต” (อะ-นัน-ตะ) ประสมขึ้นจากคำว่า น (ไม่, ไม่ใช่) + อนฺต
“อนฺต” (อัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ม เป็น น
: อมฺ > อน + ต = อนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ถึงที่สุด”
“อนฺต” ตามคำแปลนี้หมายถึง :
(1) ที่สุด, สำเร็จ, ที่หมาย (end, finish, goal)
(2) เขต, ชาย, ริม (limit, border, edge)
(3) ข้าง (side)
(4) ด้านตรงกันข้าม, ตรงกันข้าม, ตำแหน่งตรงกัน (opposite side, opposite, counterpart)
น + อนฺต ใช้สูตรเดียวกับ น + เอก คือแปลง น เป็น อน เพราะ “อนฺต” ขึ้นต้นด้วยสระ
: น > อน + อนฺต = อนนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ไม่มีที่สุด” หมายถึง หาที่สุดมิได้, ไม่จบสิ้น, ไม่มีขอบเขต (endless, infinite, boundless)
ตามศัพท์ อนนฺต > อนันต์ ไม่ได้แปลว่า “มากล้น” แต่สิ่งใด “ไม่มีที่สุด” สิ่งนั้นย่อมส่อนัยว่า มากมาย มากเหลือล้นนั่นเอง
อเนก + อนันต์ = อเนกอนันต์ อ่านว่า อะ-เหฺนก-อะ-นัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อเนกอนันต์ : (คำวิเศษณ์) มากมาย, มากหลาย, (ปาก) ใช้ว่า อเนกอนันตัง.”
: ความหมายของคำบางคำเกิดจากการแปลซ้ำสองหน
: อยากจะรู้ทันคน อย่าเพียงแต่ดูด้านเดียว
11-4-58