หยาดพระเสโทที่ปลายพระนาสิก (บาลีวันละคำ 1,955)
หยาดพระเสโทที่ปลายพระนาสิก
มีคำบาลี 2 คำ คือ “เสโท” และ “นาสิก”
(๑) “เสโท”
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “เสท” อ่านว่า เส-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สิทฺ (ธาตุ = ปล่อย, พ้น; ชุ่มชื่น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ-(ทฺ) เป็น เอ (สิทฺ > เสท)
: สิทฺ + ณ = สิทณ > สิท > เสท แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่ไหลออก” (2) “น้ำที่เปียกชุ่มอยู่”
(2) เส (ธาตุ = สุก, ต้ม, หุง) + ต แผลง ต เป็น ท
: เส + ต = เสต > เสท แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่สุก”
“เสท” (ปุงลิงค์) หมายถึง เหงื่อ (sweat, perspiration)
“เสท” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “เสโท”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เสทะ, เสโท : (คำนาม) เหงื่อ, เหงื่อไคล. (ป.; ส. เสฺวท).”
พจนานุกรมฯ บอกว่าบาลี “เสท” สันสกฤตเป็น “เสฺวท”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เสฺวท” บอกไว้ดังนี้ –
(1) เสฺวท (คุณศัพท์) อันอุ่น, ร้อน, หรือเหงื่อไหล; warm, hot, or perspiring.
(2) เสฺวท : (คำนาม) ความอบอุ่น, ความร้อน, เหงื่อ; warmth, heat; sweat.
และมีคำว่า “เสฺวทน” อีกคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เสฺวทน : (คำนาม) เหงื่อ; การทำให้เหงื่อไหล; เสวทชนก, ยาอันทำให้เกิดมีเหงื่อมาก; sweat, perspiration; sweating; a diaphoretic, a sudorific or medicine that increases perspiration.”
(๒) “นาสิก”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีคำว่า “นาสา” และ “นาสิกา” บอกไว้ดังนี้ –
(1) “นาสา” รากศัพท์มาจาก นสฺ (ธาตุ = ถือเอากลิ่น, ดมกลิ่น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ (นสฺ > นาส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: นสฺ + ณ = นสณ > นส > นาส + อา = นาสา แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องดมกลิ่น”
(2) “นาสิกา” รากศัพท์มาจาก นสฺ (ธาตุ = ถือเอากลิ่น, ดมกลิ่น) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะต้นธาตุ (นสฺ > นาส), แผลง อะ ที่ (นา)-ส เป็น อิ (นาส > นาสิ), + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: นสฺ + ณฺวุ > อก = นสก > นาสก > นาสิก + อา = นาสิกา แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องดมกลิ่น”
“นาสา” และ “นาสิกา” หมายถึงสิ่งเดียวกัน คือ จมูก (the nose) แต่เฉพาะ “นาสา” ในที่บางแห่งยังหมายถึง งวงช้าง (the trunk of an elephant) อีกด้วย
“นาสา” และ “นาสิกา” รูปสันสกฤตก็เป็นเช่นนี้
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(1) นาสา : (คำนาม) นาสิกา, จมูก; ตัวไม้เบื้องบนประตู; the nose; the upper timber of the door.
(2) นาสิกา : (คำนาม) ‘นาสิกา,’ จมูก, ‘นาสิก’ ก็ใช้; ตัวไม้เบื้องบนประตู; the nose; the upper timber of the door.
“นาสิกา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “นาสิก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นาสิก : (คำแบบ) (คำนาม) จมูก. (ป., ส. นาสิกา).”
…………..
ขยายความ :
“เสท” หรือ “เสโท” ท่านจัดเข้าไว้เป็น 1 ในอาการ 32 คือส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายมนุษย์ 32 ชนิด “เสโท” อยู่ในลำดับที่ 24 (ดูรายละเอียดที่ “อาการ 32” : บาลีวันละคำ (509) 6-10-56) มีคำพรรณนาว่า –
……………
คำว่า เสโท–เหงื่อ ได้แก่อาโปธาตุที่ไหลออกตามช่องในร่างกายมีช่องขุมขนเป็นต้น เสโทนั้น โดยสี มีสีดังสีน้ำมันงาใส, โดยรูปทรง มีสัณฐานตามพื้นผิวซึ่งมันซึมซาบอยู่, โดยทิศ เกิดทั้ง 2 ทิศ (คือทั้งเบื้องบนตั้งแต่ศีรษะลงมาและเบื้องล่างตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไป), โดยแหล่งที่อยู่ประจำ ชื่อว่าที่อยู่ประจำของเสโทซึ่งเป็นที่ที่มันจะพึงขังอยู่ตลอดเวลาเหมือนดังโลหิตนั้นหามีไม่ ต่อเมื่อใดร่างกายร้อนขึ้นด้วยเหตุต่าง ๆ เช่นร้อนไฟ ร้อนแดด และความผันแปรแห่งฤดูกาล เมื่อนั้นมันจึงไหลออกตามช่องขุมผมและขุมขนทั้งปวง ดุจกำสายบัวที่พอคนถอนขึ้นจากน้ำ มีเง่าและรากขาดไม่เสมอกัน น้ำก็ไหลออกไม่เสมอกันฉะนั้น
ที่มา: วิสุทธิมรรคแปล ภาค 2 ตอน 1 หน้า 73-74
…………..
คำว่า “หยาดพระเสโทที่ปลายพระนาสิก” หากจะแปลเป็นภาษาบาลีโดยลีลากมลฉันท์ตามประสายาก ก็น่าจะมีทำนองเป็นดังนี้ –
“วรนาสิกคฺเค วรเสทพินฺทุ”
(วะ-ระ-นา-สิ-กัก-เค วะ-ระ-เส-ทะ-พิน-ทุ)
แปลโดยโวหารธรรมดาๆ ว่า “หยาดเหงื่ออันประเสริฐที่ปลายจมูกของผู้ประเสริฐ”
…………..
ดูก่อนภราดา!
๏ เห็น “พระเสโทปลายพระนาสิก” อีกกี่ครั้ง
อย่าลืมตั้งสติคิดสักนิดหนึ่ง
ทุกครั้งที่เหนื่อยหนักพักรำพึง
“เราเหนื่อยถึงหนึ่งในล้านท่านหรือยัง”๚ะ๛
#บาลีวันละคำ (1,955)
16-10-60