บาลีวันละคำ

ภัยจากธาตุทั้งสี่ (บาลีวันละคำ 1,076)

ภัยจากธาตุทั้งสี่

ธาตุทั้งสี่ ที่เรารู้จักกันดีคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม

เรียกเป็นคำบาลีว่า ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ

ภัยที่เกิดจากน้ำ เราไม่เรียก อาโปภัย แต่เรียก “อุทกภัย

ภัยที่เกิดจากไฟ เราไม่เรียก เตโชภัย แต่เรียก “อัคคีภัย

ภัยที่เกิดจากลม เราไม่เรียก วาโยภัย แต่เรียก “วาตภัย

ส่วนภัยที่เกิดจากดิน เราไม่ค่อยคุ้นหู คำบาลีที่หมายถึง “ดิน” ที่เราคุ้นก็อย่างเช่น ปฐพี ธรณี ภูมิ แต่ก็ยังไม่ได้ยินใครเรียกว่า ปฐพีภัย ธรณีภัย หรือ ภูมิภัย

ภัยที่เกิดจากแผ่นดินอย่างหนึ่งคือแผ่นดินไหว มีคำเรียกว่า “ธรณีพิบัติภัย” (ดูความหมายของศัพท์ที่ “ธรณีพิบัติภัย” บาลีวันละคำ (1,075) 28-4-58)

ถ้าเรียกตามชุดของธาตุทั้งสี่ คำนี้ก็น่าจะเรียกว่า “ธรณีภัย” ให้เข้าชุดกัน คือ :

ธรณีภัย = ภัยที่เกิดจากดิน

อุทกภัย = ภัยที่เกิดจากน้ำ

อัคคีภัย = ภัยที่เกิดจากไฟ

วาตภัย = ภัยที่เกิดจากลม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อุทกภัย : (คำนาม) ภัยอันตรายที่เกิดจากนํ้าท่วม. (ป., ส. อุทก + ภย).

(2) อัคคีภัย : (คำนาม) ภัยที่เกิดจากไฟ, ไฟไหม้.

(3) วาตภัย : (คำนาม) ภัยอันตรายที่เกิดจากพายุ.

คำว่า “ธรณีพิบัติภัย” ยังไม่มีเก็บไว้ใน พจน.54

ดูคำที่ตั้งต้นด้วย ปฐวีปฐพีธรณีภูมิ– ก็ไม่พบคำที่หมายถึงภัยอันตรายที่เกิดจากดิน

คำว่า “ธรณีพิบัติภัย” เป็นศัพท์ที่บัญญัติมาจากภาษาอังกฤษว่า geohazard

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่า –

(1) geo- (คำที่ใช้นำหน้าคำอื่น) หมายถึง พื้นแผ่นดิน เช่น –

geography = ภูมิศาสตร์, ภูมิประเทศ

geology = ธรณีวิทยา

(2) hazard หมายถึง เครื่องกีดขวาง, อันตราย

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล hazard เป็นบาลีว่า antarāyābhimukhī อนฺตรายาภิมุขี (อัน-ตะ-รา-ยา-พิ-มุ-ขี) = มีภัยอันตรายอยู่ตรงหน้า

geohazard จึงแปลตามตัวว่า อันตรายที่เกิดจากแผ่นดิน

ทำไมจึงไม่ใช้คำว่า “ธรณีภัย” ?

geo- หมายถึง พื้นแผ่นดิน หรือ ธรณี

hazard หมายถึง ภัย หรือ อันตราย

geohazard จึงน่าจะใช้ว่า “ธรณีภัย

เข้าชุดกันกับภัยที่เกิดจากธาตุทั้งสี่ = ธรณีภัย อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย

ทำไมจึงใช้ว่า “ธรณีพิบัติภัย

ทำไมจึงต้องมีคำว่า “พิบัติ” แทรกเข้ามา

ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบคำอธิบายถึงเหตุผล แต่ใคร่ขออธิบายตามความเข้าใจดังนี้ :

๑ ภัยที่เกิดจากธาตุอื่นๆ คือ อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย ตัวธาตุนั้นๆ เมื่อเกิดขึ้นเกินขนาดหรือควบคุมไม่ได้จึงเป็นภัย นับว่าเป็นภัยที่เกิดจากสภาพปกติของธาตุนั้นๆ คือ

น้ำ-ก็ต้องท่วม

ไฟ-ก็ต้องลุกไหม้

ลมพายุ-ก็ต้องพัด

เป็นสภาพปกติของธาตุนั้นๆ

๒ แต่แผ่นดินตามสภาพปกติไม่เป็นภัย (น้ำ ไฟ ลม ตามสภาพปกติเป็นภัยอยู่ในตัวได้) แผ่นดินจะเป็นภัยก็ต่อเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นแก่แผ่นดินก่อน เมื่อแผ่นดินเกิดอาการผิดปกติจึงส่งผลเป็นภัย

สรุปว่า แผ่นดินปกติไม่เป็นภัย แผ่นดินที่เป็นภัยต้องเป็นแผ่นดินที่ผิดปกติ

๓ ความผิดปกติของแผ่นดินหรืออาการที่แผ่นดินเกิดผิดปกติขึ้นมานั่นแหละเรียกว่า “ธรณีพิบัติ” หมายถึง หายนะที่เกิดแก่แผ่นดิน ซึ่งอาจมีได้ในหลายรูปแบบ เช่น แผ่นดินไหว หลุมยุบ ดินถล่ม หิมะถล่ม ภูเขาไฟระเบิด ตลอดจนคลื่นสึนามิ เป็นต้น รวมอยู่ในความหมายของ “ธรณีพิบัติ” ทั้งสิ้น

๔ เมื่อ “ธรณีพิบัติ” เกิดขึ้นแล้วจึงมีภัยเกิดตามมา เพราะฉะนั้น จะเรียกว่า “ธรณีภัย” เฉยๆ ก็ไม่ถูก เพราะธรณีปกติไม่มีภัย จึงต้องเรียกภัยชนิดนี้ว่า “ธรณีพิบัติภัย” คือภัยที่เกิดจากธรณีพิบัติ หรือภัยที่เกิดจากธรณีผิดปกติ

: ถ้าความคิดเห็นไม่วิบัติ ก็สารพัดที่จะปลอดภัย

1-5-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย