วิปโยค (บาลีวันละคำ 1,077)
วิปโยค
อ่านว่า วิบ-ปะ-โยก
บาลีเป็น “วิปฺปโยค” อ่านว่า วิบ-ปะ-โย-คะ
ส่วนประกอบของคำว่า “วิปฺปโยค” ในบาลี :
(๑) “โยค” รากศัพท์มาจาก ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ยุ– เป็น โอ, แปลง ช เป็น ค
: ยุชฺ + ณ = ยุชณ > ยุช > โยช > โยค แปลตามศัพท์ว่า “อันบุคคลพึงประกอบ”
“โยค” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ :
(1) แอก, การเทียม, เครื่องช่วย (yoke, yoking)
(2) ความเกี่ยวพัน, การใช้; ความสัมพันธ์ตามธรรมชาติ, การสมาคมกัน; การมาบรรจบกัน (connection with, application to; natural relation, association; conjunction)
(3) ห่วง, ความสัมพันธ์, การผูกพัน (bond, tie; attachment)
(4) ความตั้งใจ, ความพยายาม, เพียรทำให้สำเร็จ (application, endeavour, undertaking, effort)
(5) ความไตร่ตรอง, การสำรวจใจ, การเอาใจจดจ่อ (pondering, concentration, devotion)
(6) อำนาจลึกลับ, อิทธิพล, อุบาย, แผนการ (magic power, influence, device, scheme)
(7) หนทาง, เครื่องมือ, เครื่องเยียวยา (means, instrument, remedy)
(๒) ป (ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + โยค = ปโยค แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบทั่วไป”
“ปโยค” ในบาลีใช้ในความหมาย :
(1) พาหะ, เครื่องมือ (means, instrument)
(2) การตระเตรียม, การประกอบการ, อาชีพ, การปฏิบัติหรือทดลอง, ธุรกิจ, การกระทำ, การปฏิบัติ (preparation, undertaking, occupation, exercise, business, action, practice)
(๓) วิ (พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปโยค = วิปฺปโยค (ซ้อน ปฺ) แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบต่าง” หมายถึง ต่างจากการประกอบ = ไม่ได้ประกอบ, เคยประกอบไว้ด้วยกัน แต่ขณะนี้ไม่ได้ประกอบแล้ว
สรุป : วิ + ป + โยค = วิปฺปโยค หมายถึง การแยกกัน, การพรากจากกัน (separation)
วิปฺปโยค ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิปโยค” (และอิงสันสกฤตเป็น “วิประโยค”)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิปโยค : (คำนาม) ความพลัดพราก, ความกระจัดกระจาย, ความจากกัน. (คำวิเศษณ์) เศร้าโศก เช่น วันวิปโยค แม่น้ำวิปโยค. (ป. วิปฺปโยค; ส. วิปฺรโยค).”
สัจธรรม :
ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข
ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ เป็นทุกข์
2-5-58