บาลีวันละคำ

คณิกาผล (บาลีวันละคำ 1,777)

คณิกาผล

ลูกบุญของต้นบาป

อ่านว่า คะ-นิ-กา-ผน

แยกศัพท์เป็น คณิกา + ผล

(๑) “คณิกา

อ่านว่า คะ-นิ-กา รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ) + อิ อาคม + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คณฺ + ณฺวุ > อก = คณก + อิ + อา = คณิกา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบุรุษนับเอาไป” (คือตีราคาพาไป) หมายถึง “(สตรี) ผู้เป็นของประชาชน”, หญิงแพศยา, หญิงงามเมือง (“one who belongs to the crowd,” a harlot, a courtesan)

(๒) “ผล

บาลีอ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + ปัจจัย

: ผลฺ + = ผล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” (คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป) (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร

ผล” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)

(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)

(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)

ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (2)

คณิกา + ผล = คณิกาผล แปลว่า “ผลอันเกิดแต่นางคณิกา”

…………..

คณิกาผล” เป็นชื่อวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ที่ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

ตามประวัติกล่าวว่า ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หญิงนางหนึ่งชื่อ แฟง มักเรียกกันว่า ยายแฟง เป็นเจ้าสำนักโสเภณีชื่อ “โรงยายแฟง” อยู่ที่ตรอกเต๊า ถนนเยาวราช มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงชวนหญิงโสเภณีในสำนักของนางนำรายได้จากการค้าประเวณีมาลงขันสร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2376

เมื่อแรกสร้าง ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดใหม่ยายแฟง” ต่อมา (น่าจะในสมัยรัชกาลที่ 4) ลูกหลานของยายแฟงได้บูรณะวัดขึ้นใหม่และขอพระราชทานนามวัด จึงได้รับพระราชทานนามว่า “วัดคณิกาผล” แปลว่า วัดที่สร้างขึ้นจากผลประโยชน์ของนางคณิกา คือโสเภณี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนบาปที่กล้าทำบุญ

: สมควรได้รับความขอบคุณมากกว่านักบุญที่แอบทำบาป

18-4-60