บาลีวันละคำ

ละสังขาร (บาลีวันละคำ 1,097)

ละสังขาร

คำไทยผสมบาลี

(๑) “ละ

เป็นคำไทย ในที่นี้มีความหมายตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ คือ :

(1) อาการที่แยกตัวให้พ้นจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ เช่น ละถิ่น ละบ้าน ละสมณเพศ.

(2) ทิ้งไว้, ปล่อยไว้, เช่น ละไว้ในฐานที่เข้าใจ ละพยศ.

(๒) “สังขาร

บาลีเป็น “สงฺขาร” (สัง-ขา-ระ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตเป็น งฺ, แปลง กรฺ เป็น ขรฺ, ยืดเสียง อะ ที่ -(ร) เป็น อา

: สํ > สงฺ + กรฺ = สงฺกร + = สงฺกรณ > สงฺกร > สงฺขร > สงฺขาร แปลตามศัพท์ว่า “ทำร่วมกัน” คือ “สภาวะอันปัจจัยปรุงแต่ง

สงฺขาร มีความหมาย 2 อย่าง คือ :

(1) สิ่งที่ถูกปรุงผสมขึ้นให้เห็นว่าเป็นอะไรอย่างหนึ่ง แต่เมื่อแยกส่วนประกอบออกจากกันแล้ว “อะไรอย่างหนึ่ง” นั้นก็ไม่มี (compounded things; component things; conditioned things)

ความหมายนี้รวมไปถึง “ร่างกาย ตัวตน” (the physical body) ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ

(2) อาการที่จิตคิดปรุงแต่งไปต่างๆ หรือเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำ ให้เป็นไปต่างๆ (mental formations; volitional activities)

ความหมายนี้ก็คือ 1 ในองค์ประกอบ 5 อย่าง ที่รวมกันเข้าเป็นชีวิตคน ที่เรียกว่า ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา “สังขาร” วิญญาณ

สงฺขาร ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังขาร” (สัง-ขาน) และมักเข้าใจกันในความหมายว่า ร่างกาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังขาร : (คำนาม) ร่างกาย, ตัวตน, สิ่งที่ประกอบและปรุงแต่งขึ้นเป็นร่างกายและจิตใจรวมกัน, เช่น สังขารร่วงโรย สังขารไม่เที่ยง; ความคิด เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (ป.; ส. สํสฺการ). (คำกริยา) ตาย เช่น ถึงซึ่งสังขาร, ในบทกลอนใช้ว่า สังขาร์ ก็มี.”

ละสังขาร” เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นใช้แทนคำว่า “มรณภาพ” ด้วยเจตนาที่จะสื่อให้รู้ว่า พระภิกษุที่มรณภาพนั้นมีคุณธรรมสูงถึงขั้นเป็นพระอริยบุคคล คำว่า “มรณภาพ” จึงสามัญเกินไปที่จะใช้กับท่าน

พจน.54 บอกไว้ว่า –

มรณภาพ [มอระนะพาบ] : (คำนาม). ความตาย. (คำกริยา) ตาย (ใช้แก่พระสงฆ์).”

ในภาษาไทยยังมีคำเก่าอีกคำหนึ่งที่ใกล้เคียงกับ “ละสังขาร” คือคำว่า “ละโลก

พจน.54 บอกไว้ว่า –

ละโลก : (คำกริยา) ตาย เช่น เขาละโลกไปแล้ว.”

ความคิดเห็น :

๑ “ละโลก” มีความหมายกว้างและมีนัยที่สูงกว่า “ละสังขาร

๒ “ละสังขาร” หมายความเพียงว่า ทิ้ง (ละ) ร่างกาย (สังขาร) ไว้ในโลกนี้ (เพราะขณะนั้นสังขารยังอยู่ในโลกนี้) ไม่มีคำบ่งบอกว่าละแล้วไปไหน “ผู้ละ” อาจจะยังอยู่ในโลกนี้นั่นเอง ไม่ได้หลุดพ้นไปไหน

๓ แต่ “ละโลก”มีความหมายว่า ทิ้งโลกนี้ไป ไม่อยู่ในโลกนี้อีกแล้ว แม้จะไม่มีคำบ่งบอกว่าละแล้วไปไหน แต่คำว่า “โลก” สามารถตีความให้หมายถึงโลกทั้งหมด ซึ่งมีนัยถึงการเวียนตายเวียนเกิด เพราะมี “โลก” จึงยังมีเกิดมีตาย ถ้าละโลกได้ ก็พ้นเกิดพ้นตาย ซึ่งก็คือความหมายของ “นิพพาน”

๔ แต่เวลานี้คำว่า “ละสังขาร” ออกจะ “ติด” ไปแล้วในความหมายที่คิดเอาเองว่า “ผู้ตายเป็นอริยสงฆ์” คงยากที่ให้คนหันมาใช้ “ละโลก” ที่มักเข้าใจกันว่าหมายถึงคนธรรมดาตายอย่างธรรมดา

๕ เพราะใช้คำว่า “ละสังขาร” ในความหมายที่ชวนกันให้เข้าใจว่า “ผู้ตายเป็นอริยสงฆ์” ดังนั้น ถ้าต้องการจะสถาปนาท่านผู้ใดเป็น “อริยสงฆ์” เมื่อท่านผู้นั้นตาย เพียงแต่ใช้คำว่า ท่าน “ละสังขาร” ก็เป็นอริยสงฆ์ทันที ต่อไปคงจะมี “อริยสงฆ์ตั้ง” สะพรั่งไปทั่วสังฆมณฑลเป็นแน่

: อริยสงฆ์เป็นได้ด้วยการบรรลุธรรม

: มิใช่ด้วยถ้อยคำสถาปนา

22-5-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย