สาธุ (บาลีวันละคำ 1,098)
สาธุ [2]
อ่านว่า สา-ทุ
“สาธุ” รากศัพท์มาจาก สาธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + อุ ปัจจัย
สาธฺ + อุ = สาธุ แปลตามศัพท์ว่า “ยังประโยชน์ให้สำเร็จ” มีความหมายว่า “ดีแล้ว” “ถูกต้องแล้ว” “ใช่แล้ว” “เห็นชอบด้วย”
๑ ความหมายของ “สาธุ” ในภาษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สาธุ” ไว้ว่า –
(1) (คำวิเศษณ์) ดีแล้ว, ชอบแล้ว, (เป็นคําที่พระสงฆ์เปล่งวาจาเพื่อยืนยันหรือรับรองพิธีทางศาสนาที่กระทําไป).
(2) (ภาษาปาก) (คำกริยา) เปล่งวาจาแสดงความเห็นว่าชอบแล้วหรืออนุโมทนาด้วย, มักใช้เข้าคู่กับคำ โมทนา เป็น โมทนาสาธุ
(3) ไหว้ (เป็นคําบอกให้เด็กแสดงความเคารพตามธรรมเนียม กร่อนเสียง เป็น ธุ ก็มี).
๒ ฝรั่งว่าอย่างไร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาธุ” ในความหมายต่างๆ ดังนี้
(1) good, virtuous, pious (ดี, มีคุณธรรม, มีศรัทธาแก่กล้า)
(2) good, profitable, proficient, meritorious (ดี, งาม, คล่อง, มีกำไร, เป็นกุศล)
(3) well, thoroughly (อย่างดี, โดยทั่วถึง)
(4) come on, welcome, please (โปรดมาซี, ขอต้อนรับ, ยินดีต้อนรับ : ใช้ในฐานะเป็นคำขอร้องเชิญชวน)
(5) alright, yes (ดีแล้ว ตกลง : ใช้ในฐานะเป็นคำยอมรับและอนุมัติในการตอบคำถาม หรือกรณีอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน)
๓ หลักการ
“สาธุ” เมื่อเป็นคำกล่าวขึ้นมาเดี่ยวๆ ทำนองคำอุทาน คือเปล่งวาจา (an exclamation, interjection) ใช้ในกรณีดังต่อไปนี้ :
(1) เมื่อเห็นด้วยกับญัตติ (ข้อเสนอเพื่อลงมติ) หรือการขอความเห็น ตรงกับคำว่า “เห็นชอบ” (alright, yes)
(2) เมื่อได้ฟังคำสอน คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ หรือฟังธรรมแล้วเกิดความยินดีพอใจ (good !, right !, well !)
(3) เมื่อได้เห็นหรือได้ทราบถึงการกระทำหรือเหตุการณ์ที่ถูกต้องดีงาม เป็นบุญกุศล เป็นความดี เป็นความสำเร็จที่ควรยินดี (congratulation)
๔ “สาธุ” ถ้าเติม “การ” เป็น “สาธุการ” ก็จะเห็นความหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าใช้ในกรณีเช่นไร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาธุการ” ว่า saying “well,” approval, cheering, applause (การกล่าวว่า “ดีแล้ว”, การอนุมัติ, การแสดงความยินดี, การแสดงความพอใจ)
สาธุ : ยังประโยชน์ให้สำเร็จ
: ประโยชน์จะไม่บรรลุ
: ถ้า “สาธุ” กันเลอะเทอะ
23-5-58