บาลีวันละคำ

ตาย (บาลีวันละคำ 1,099)

ตาย

ความหมายของคำที่ใช้ในภาษาไทย

ในภาษาไทยมีคำที่หมายถึง “ตาย” (สิ้นใจ, สิ้นชีวิต, ไม่เป็นอยู่ต่อไป, สิ้นสภาพของการมีชีวิต) หลายคำ ที่มาจากบาลีสันสกฤต ขอนำคำที่มักพบบ่อยมาแสดงความหมาย ตามลำดับอักษร ดังนี้ :

(1) ชีพิตักษัย (ชี-พิ-ตัก-ไส)

บาลีเป็น “ชีวิตกฺขย” (ชี-วิ-ตัก-ขะ-ยะ)

ประกอบด้วย ชีวิต (ชี-วิ-ตะ = ชีวิต) + ขย (ความสิ้นไป) ซ้อน กฺ = ชีวิตกฺขย แปลตามศัพท์ว่า “ความสิ้นไปแห่งชีวิต” เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “ชีพิตักษัย

พจน.42 บอกไว้ว่า –

ชีพิตักษัย : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) การสิ้นชีวิต. (คำกริยา). ตาย, ใช้แก่หม่อมเจ้าว่า ถึงชีพิตักษัย. (ส. ชีวิตกฺษย; ป. ชีวิตกฺขย).

พจน.54 ตัดสั้นลงเป็น –

ชีพตักษัย, ชีพิตักษัย : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) การสิ้นชีวิต. (ส. ชีวิตกฺษย; ป. ชีวิตกฺขย).

(2) ทิวงคต (ทิ-วง-คด)

บาลีเป็น “ทิวงฺคต” (ทิ-วัง-คะ-ตะ)

ประกอบด้วย ทิว (ทิ-วะ = สวรรค์) แจกรูปเป็น ทิวํ (ทิ-วัง) + คต (ไป) แปลงนิคหิตเป็น งฺ = ทิวงฺคต แปลตามศัพท์ว่า “ไปสู่สวรรค

ทิวงคต : (คำราชาศัพท์) (คำกริยา) ไปสู่สวรรค์, ตาย, (ใช้แก่สมเด็จพระยุพราช หรือเจ้าฟ้าซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเฉลิมพระยศพิเศษ). (พจน.54)

(3) พิราลัย (พิ-รา-ไล)

บาลีเป็น วีร (วี-ระ = ผู้กล้า, นักรบ) + อาลย (อา-ละ-ยะ = ที่อยู่) = วีราลย (วี-รา-ละ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่อยู่ของนักรบ” หมายถึง สวรรค์ (โดยยกย่องนักรบว่าเมื่อตายไปย่อมไปอยู่ที่สวรรค์)

พิราลัย : (คำกริยา) ตาย (เดิมใช้แก่เจ้าประเทศราช สมเด็จเจ้าพระยา ภายหลังใช้แก่ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นการเฉพาะราย), ใช้ว่า ถึงแก่พิราลัย. (พจน.54)

(4) มรณภาพ (มอ-ระ-นะ-พาบ)

บาลีเป็น “มรณภาว” (มะ-ระ-นะ-พา-วะ)

ประกอบด้วย มรณ (ความตาย) + ภาว (ความมี, ความเป็น) = มรณภาว แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งความตาย” “ภาวะคือความตาย

มรณภาพ : (คำนาม) ความตาย. (คำกริยา) ตาย (ใช้แก่พระสงฆ์). (พจน.54)

(5) สวรรคต (สะ-หฺวัน-คด)

บาลีเป็น “สคฺคคต” (สัก-คะ-คะ-ตะ) และเป็น “สคฺคงฺคต” (สคฺคํ + คต) ก็มี

ประกอบด้วย สคฺค (สวรรค์) + คต (ไป) = สคฺคคต แปลตามศัพท์ว่า “ไปสวรรค์” เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “สวรรคต

สวรรคต : (คำราชาศัพท์) (คำกริยา) ไปสู่สวรรค์, ตาย, (ใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี หรือผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นการเฉพาะ เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร). (ส. สฺวรฺค + คต ว่า ไปสู่สวรรค์). (พจน.54)

(6) อนิจกรรม (อะ-นิด-จะ-กำ)

บาลีเป็น “อนิจฺจกมฺม” (อะ-นิด-จะ-กำ-มะ)

ประกอบด้วย อนิจฺจ (ไม่เที่ยง, ไม่แน่นอน) + กมฺม (กรรม, การกระทำ) = อนิจฺจกมฺม แปลตามศัพท์ว่า “กรรมคือความไม่เที่ยง

อนิจกรรม : (คำนาม) ความตาย, ใช้แก่ผู้ตายที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทยขึ้นไป หรือทุติยจุลจอมเกล้า หรือทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ว่า ถึงแก่อนิจกรรม. (พจน.54)

(7) อสัญกรรม (อะ-สัน-ยะ-กำ)

น่าจะมาจาก “อสญฺญ” (อะ-สัน-ยะ) ในบาลี แปลว่า ไม่มีสัญญา คือหมดความรู้สึก (หรือ “อาสนฺน” (อา-สัน-นะ) แปลว่า ใกล้ เช่นคำว่า “อาสันนกรรม” คือกรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย “อาสันนะ” เสียงกร่อนเป็น “อาสัน” ได้ แล้วก็เขียนผิดเป็น “อาสัญ” ได้อีก)

อสญฺญ + กมฺม = อสญฺญกมฺม แปลตามศัพท์ว่า “กรรมของผู้ไม่มีความรู้สึก

อสัญกรรม : (คำนาม) ความตาย, ใช้แก่ผู้ตายที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี องคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภา หรือผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าว่า ถึงแก่อสัญกรรม. (พจน.54)

: บางคนตายตั้งแต่ยังไม่ตาย

: แต่บางคนตายแล้วก็ยังไม่ตาย

———–

(ตามคำขอของพระคุณท่าน สุธมฺโม ผู้มีธรรมอันดี)

24-5-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย