บาลีวันละคำ

คติ – คดี (บาลีวันละคำ 1,106)

คติ – คดี

คติ” (คะ-ติ) รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: คมฺ + ติ = คมติ > คติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป”  “ภูมิอันเหล่าสัตว์ต้องไป ด้วยการเข้าถึงตามกรรมดีกรรมชั่ว” “ที่เป็นที่ไป” หมายถึง ที่ไป, ที่อยู่, ที่เกิดใหม่, ภพภูมิที่จะต้องไปเกิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คติ” ว่า

(1) going, going away (การไป, การจากไป)

(2) direction, course, career (ทิศทาง, แนว, ทางไป, วิถีชีวิต)

(3) passing on (การผ่านไป)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “คติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง

(2) ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี 5 คือ :

๑. นิรยะ = นรก

๒. ติรัจฉานโยนิ = กำเนิดดิรัจฉาน

๓. เปตติวิสัย = แดนเปรต

๔. มนุษย์ = สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล

๕. เทพ = ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง อกนิษฐพรหม

พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ ขยายความต่อไปอีก สรุปได้ว่า

(1) “คติ” ทั้ง 5 นั้นใช้คำเรียกเป็นชุดว่า : นิรยคติ ติรัจฉานคติ เปตคติ มนุษยคติ เทวคติ

(2) 3 คติแรก (นิรย- ติรัจฉาน- เปต-) เป็น “ทุคติ” (ที่ไปเกิดอันชั่ว หรือแบบดำเนินชีวิตที่ไม่ดี; คำนี้ระวังอย่าเขียนผิดเป็นทุกข์คติ”) 2 คติหลัง (มนุษย- เทว-) เป็น “สุคติ” (ที่ไปเกิดอันดี หรือแบบดำเนินชีวิตที่ดี; คำนี้ก็เช่นกัน ระวังอย่าเขียนผิดเป็นสุขคติ”)

(3) มีข้อสังเกตว่า ทุคติ 3 บางทีเรียกว่า “อบาย” หรือ “อบายภูมิ” แต่อบายภูมินั้นมี 4 คือ นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน

(4) อรรถกถา (อุ.อ.145; อิติ.อ.145) อธิบายว่า อบายภูมิมี 4 เพราะเพิ่ม “อสุรกาย” เข้ามาอีกภูมิหนึ่ง ทุคติมี 3 เพราะรวมอสุรกายเข้าไว้ในเปตติวิสัย

(5) คติ 5 นี้ เมื่อจัดเข้าใน ภพ 3 (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) พึงทราบว่า 4 คติแรกเป็นกามภพทั้งหมด ส่วนคติที่ 5 คือ เทพ มีทั้งกามภพ รูปภพ และอรูปภพ

(6) เทพนั้นแบ่งออกไปเป็น (ก) เทวดาในสวรรค์ 6 ชั้น อยู่ในกามภพ (ข) รูปพรหม 16 ชั้น อยู่ในรูปภพ และ (ค) อรูปพรหม 4 ชั้น อยู่ในอรูปภพ

(7) คติ 5 นี้ เมื่อจัดเข้าในภูมิ 4 (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตตรภูมิ) พึงทราบว่า 4 คติแรกเป็นกามาวจรภูมิทั้งหมด ส่วนคติที่ 5 คือ เทพ มีทั้งกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมิ

(8) ภูมิสูงสุด คือภูมิที่ 4 อันได้แก่โลกุตตรภูมินั้น แม้ว่าพวกเทพจะอาจเข้าถึงได้ แต่ท่านว่ามนุษยคติเป็นวิสัยที่มีโอกาสบรรลุถึงได้ดีที่สุด

………

คติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “คติ” คงตัวตามบาลีก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) คติ ๑ : (คำนาม) การไป; ความเป็นไป. (ป.).

(2) คติ ๒ : (คำนาม) แบบอย่าง, วิธี, แนวทาง. (ป.).

คติ” แปลงรูปเป็น “คดี” (คะ-ดี) ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) เรื่อง, มักใช้ประกอบคําศัพท์ เช่น โบราณคดี คดีโลก คดีธรรม วรรณคดี สารคดี.

(2) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) เรื่องหรือความที่ฟ้องร้องหรือกล่าวหากันในทางกฎหมาย ซึ่งต้องดำเนินการตามกระบวนวิธีพิจารณาความตามที่กฎหมายกำหนด เช่น คดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง.

: คนทำชั่ว อาจหลอกกฎหมายได้บ้าง

: แต่จะหลอกนรกไม่ได้เลย

4-6-58

ต้นฉบับ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย