บาลีวันละคำ

ภัตตานิ (บาลีวันละคำ 1,116)

ภัตตานิ

หมายถึงอะไร ?

ในคำถวายทานที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็น “คำถวายสังฆทาน” มีคำขึ้นต้นว่า

อิมานิ มยํ ภนฺเต ภตฺตานิ สปริวารานิ …. (อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ..)

มีคำถามว่า ภัตตานิ หมายถึงอะไร ?

หนังสือ “วินัยพระน่ารู้คู่มือโยม” ของสำนักวัดเขาสนามชัย ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แสดงความเห็นไว้ว่า “ภัตตานิ” แปลว่า “ข้าวสุก”

มีสิกขาบทบัญญัติไว้ว่า ถ้ามีผู้นิมนต์ไปฉันอาหารโดยระบุชื่อโภชนะ (เช่น ขอนิมนต์ไปฉันไก่ย่าง ขอนิมนต์ไปฉันขนมจีน) ห้ามพระรับนิมนต์ ถ้ารับและไปฉัน ต้องอาบัติ

จำพวก “โภชนะ” ที่ระบุไว้มี ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก, ขนมสด, ขนมแห้ง, ปลา, เนื้อ

หนังสือ “วินัยพระน่ารู้คู่มือโยม” บอกว่าคำถวายทานข้างต้นนั้น “เป็นการกล่าวคำถวายโดยระบุชื่อโภชนาหาร” (คือ ระบุว่า “ถวายข้าวสุก”) จึงไม่ถูกต้องตามวินัยสงฆ์

ภัตตานิ” เขียนแบบบาลีเป็น “ภตฺตานิ” ศัพท์เดิมคือ “ภตฺต” (พัด-ตะ) เป็นนปุงสกลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง พหูพจน์ จึงเปลี่ยนรูปเป็น “ภตฺตานิ

ภตฺต” แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องกิน” “ของที่จะพึงกลืนกิน

ข้อความบางแห่งในคัมภีร์ คำว่า “ภตฺต” หมายถึง “ข้าวสุก” โดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไป “ภตฺต” หมายถึง อาหาร (ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นข้าวสุก)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภตฺต” ว่า feeding, food, nourishment, meal (การเลี้ยง, อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ)

โปรดสังเกตว่า ไม่มีคำแปลที่หมายถึง “ข้าวสุก

ในพระไตรปิฎกมีกล่าวไว้ในที่หลายแห่งว่า ทายกนิมนต์พระสงฆ์ไปฉันอาหารที่บ้าน เมื่อเจ้าภาพจัดเตรียมอาหารพร้อมแล้วจะส่งคนไปแจ้งแก่ภิกษุด้วยคำว่า “ภนฺเต  นิฏฺฐิตํ  ภตฺตํ” (ภันเต นิฏฐิตัง ภัตตัง แปลว่า “อาหารเสร็จแล้วเจ้าข้า”)

เห็นได้ชัดว่า “ภัตตะ” ไม่ได้หมายถึง “ข้าวสุก” อย่างที่หนังสือ “วินัยพระน่ารู้คู่มือโยม” แสดงความเห็น เพราะถ้าหมายถึงข้าวสุก คำแจ้งของเจ้าภาพดังกล่าวนั้นก็จะต้องขัดกับวินัยสงฆ์อย่างชัดเจน

อนึ่ง คำว่า “ภตฺต” ที่นำมาใช้ในภาษาไทย ก็ไม่ได้หมายถึง “ข้าวสุก”

โปรดดูตัวอย่างจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ดังนี้ –

(1) ภัต, ภัต-, ภัตร : (คำนาม) อาหาร, ข้าว. (ป. ภตฺต).

(2) ภัตกิจ : (คำนาม) การกินอาหาร.

(3) ภัตตาคาร : (คำนาม) อาคารที่จําหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ค่อนข้างใหญ่และหรูหรา. (ป. ภตฺต + อคาร).

(4)ภัตตาหาร : (คำนาม)  อาหารสําหรับภิกษุสามเณรฉัน. (ป. ภตฺต + อาหาร).

ในคำถวายทานข้างต้น “ภตฺตานิ” ไม่ได้หมายถึง “ข้าวสุก” แต่หมายถึง “อาหาร” คำถวายนั้นจึงไม่ใช่เป็นการถวายโดยระบุชื่อโภชนาหารแต่ประการใดเลย

———

จาก “ภัตตานิ” ถึง “สังฆะทานานิ

เรื่องที่ควรเข้าใจให้ถูกต้อง

๑ เมื่อชาวพุทธจะถวายทานให้เป็นของสงฆ์ (สังฆทาน) แต่เดิมนั้นของถวายที่หาได้ง่ายที่สุดก็คือ “ภัตตะ – อาหาร” เพราะทุกครัวเรือนจะต้องหุงหาเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อถวายสังฆทานจึงถวายอาหารเป็นพื้น จนกระทั่งคำถวายที่ผูกขึ้นว่า อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ..เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็น “คำถวายสังฆทาน”

๒ ความเข้าใจดังว่านั้นซึมลึกจนกระทั่งแม้แต่ที่ข้างกล่องเทียนพรรษาซึ่งผู้ผลิตพิมพ์คำถวายติดไว้ด้วย คำถวายนั้นก็ขึ้นต้นว่า อิมานิ มะยัง ภันเต‘ภัตตานิ’ สะปะริวารานิ ..และคำแปลก็บอกว่า..ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ‘ซึ่งภัตตาหาร’ ….

๓ ถ้าสังเกตสักนิดก็จะเข้าใจได้ว่า คำถวายข้างต้นนั้นเป็น “คำถวายอาหาร” ให้เป็นสังฆทาน หาใช่ “คำถวายสังฆทาน” ดังที่เข้าใจกันผิดๆ ไม่

๔ ต่อมา ได้มีการทักท้วงว่า บางทีถวายสังฆทานหลังเที่ยงวันไปแล้ว และบางทีของถวายก็ไม่ใช่ “อาหาร” การใช้คำว่า “ภัตตานิ” (“อาหาร”) จึงไม่ถูกต้อง คำทักท้วงนี้เป็นเหตุให้มีผู้คิดเปลี่ยนคำว่า “ภัตตานิ” ไปเป็นคำอื่น

๕ คำที่คุ้นปากอยู่แล้วคือคำว่า “ถวายสังฆทาน” จึงมีผู้เอาคำว่า “สังฆทาน” มาแต่งตัวให้เป็นบาลีโดยเข้าใจว่า “ภัตตานิ” ลงท้ายด้วย “-นิ” จึงแต่ง “สังฆทาน” เป็น “สังฆะทานิ

ขอยืนยันว่าในระยะแรกที่มีผู้คิดเปลี่ยนคำถวายนั้น เปลี่ยนเป็น “สังฆะทานิ” จริงๆ (ไม่ใช่ “สังฆะทานานิ”) ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ยินกับหูและได้เห็นกับตาหลายครั้ง เห็นได้ชัดว่าผู้ที่ริเริ่มเปลี่ยนไม่ได้มีความรู้ทางภาษาบาลีเท่าที่ควร

๖ ต่อมาอีก มีผู้ทักท้วงว่า “สังฆะทานิ” ไม่ถูกหลักไวยากรณ์ คำที่ถูกจะต้องเป็น “สังฆะทานานิ” ทุกวันนี้เราจึงได้ยินคำถวายสังฆทานโดยทั่วไปว่า อิมานิ มะยัง ภันเต ‘สังฆะทานานิ’ สะปะริวารานิ ..

๗ “สังฆะทานานิ” แม้จะถูกหลักไวยากรณ์ แต่ก็ผิดหลักความจริง

หลักความจริงก็คือ คำว่า “สังฆทาน” เป็นชื่อเรียกเจตนาในการถวายทานซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ –

(1) ปาฏิบุคลิกทาน ถวายให้เป็นของส่วนตัวแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

(2) สังฆทาน ถวายให้เป็นของสงฆ์, ถวายให้เป็นของส่วนรวม

สังฆทาน” จึงไม่ใช่ชื่อเรียกสิ่งของชนิดใดๆ ที่จะเอามาถวายโดยเรียกชื่อว่า “สังฆะทานานิ” ได้เลย ถวายสิ่งใดให้เป็นของสงฆ์ สิ่งนั้นจึงเป็นสังฆทาน

โปรดเทียบ : ถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ ภัตตาหารก็เป็นสังฆทาน และเมื่อถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ เราใช้คำว่า “ภัตตานิ” ไม่ใช่ “สังฆะทานานิ

๘ อย่างไรก็ตาม มีผู้อธิบายว่า “สังฆทาน” สามารถแปลได้ว่า “ทานเพื่อสงฆ์” ซึ่งหมายถึงสิ่งของที่ถวายให้เป็นของสงฆ์ ดังนั้น คำว่า “สังฆะทานานิ” จึงใช้ได้ ไม่ผิดแต่ประการใด

๙ หลักนิยมแต่เดิมนั้น จะถวายสิ่งใดให้เป็นของสงฆ์ ก็ระบุชื่อสิ่งนั้นลงไป เช่น ถวายร่ม ถวายรองเท้า ถวายข้าวสาร ถวายน้ำมัน ถวายกุฏิ ฯลฯ ดังที่ท่านรวบรวมไว้เป็นคู่มือถวายทาน ท่านไม่ได้ตีขลุมลงไปทั้งหมดว่า “สังฆะทานานิ

ถ้า “สังฆะทานานิ” ใช้ได้ ไม่ผิด คำถวายทานชนิดต่างๆ ก็เป็นอันว่าโละทิ้งไปได้ ต่อไปไม่ว่าจะถวายอะไร ก็ใช้ “สังฆะทานานิ” คำเดียว จบ

๑๐ แต่ถ้าแก้ตัวต่อไปอีกว่า “สังฆะทานานิ” หมายเอาเฉพาะของกินของใช้รวมๆ กันไป หรือชี้เฉพาะก็คือชุดสังฆทานหรือถังขาวถังเหลืองเท่านั้น ก็ยังมีข้อตำหนิ นั่นคือคำว่า “สะปะริวารานิ” (อิมานิ มะยัง ภันเต สังฆะทานานิ สะปะริวารานิ ..) ซึ่งแปลว่า “พร้อมทั้งของบริวาร

ถามว่า “ของบริวาร” อยู่ที่ไหน ?

เดิมนั้น ถ้าถวายภัตตาหาร ของอื่นๆ ที่ถวายร่วมไปด้วย เช่นสบู่ ยาสีฟัน กระดาษเช็ดมือ ผ้าสบง ฯลฯ ก็คือ “สะปะริวารานิของบริวาร

แต่เมื่อเอาของพวกนั้นมาเป็น “สังฆะทานานิ” เสียหมดแล้ว “สะปะริวารานิของบริวาร” คืออะไร ?

ถ้าคำถามท้วงนี้ดังมากขึ้นและหาคำอธิบายไม่ได้ เชื่อว่าต่อไปก็คงมีผู้ตัดคำว่า “สะปะริวารานิ” ออกเพื่อให้ตรงกับข้อเท็จจริง หรือไม่ก็ต้องหาคำอธิบายดิ้นต่อไปอีก

๑๑ เป็นที่แน่นอนว่า คำถวายสังฆทานที่ใช้กันว่า อิมานิ มะยัง ภันเต ‘สังฆะทานานิ’ สะปะริวารานิ ..นี้แพร่ระบาดไปในลักษณะที่ว่า-ห้ามไม่ฟัง รั้งไม่หยุด ทำนองเดียวกับความเชื่อฝังหัวว่าถวายสังฆทานต้องมีถึงเหลือง ถ้าไม่มี ไม่เป็นสังฆทาน

๑๒ ในบ้านเมืองเรา ผู้รู้บาลีและรู้หลักของสังฆทานก็มีอยู่มาก แทนที่จะ “ช่วยกันแก้ไขที่ผิดให้เป็นถูก” ก็กลายเป็นว่า-มีแต่ “ช่วยกันอธิบายผิดให้เป็นถูก” แล้วก็พากันเชื่อตามกันไป แทนที่ถูกจะนำผิด ก็กลายเป็นผิดนำถูกทั่วไปหมด

อะไรเอ่ย ?

: ถวายสังฆทาน แต่ไม่ถึงสงฆ์

: เดินธุดงค์ แต่ไปไม่ถึงนิพพาน

14-6-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย