ทุกรกิริยา (บาลีวันละคำ 1,139)
ทุกรกิริยา
อ่านว่า ทุก-กะ-ระ-กิ-ริ-ยา
บาลีเป็น “ทุกฺกรกิริยา” อ่านว่า ทุก-กะ-ระ-กิ-ริ-ยา
ประกอบด้วย ทุกฺกร + กิริยา
(๑) “ทุกฺกร”
รากศัพท์มาจาก ทุ (ชั่ว, ยาก) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ ปัจจัย, ซ้อน กฺ
: ทุ + กฺ + กรฺ = ทุกฺกร + อ = ทุกฺกร แปลตามศัพท์ว่า “อันทำได้ยาก” หมายถึง ยากที่จะทำ, ไม่ง่าย, ลำบาก, ตรากตรำ (difficult to do, not easy, hard, arduous)
(๒) “กิริยา”
รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย แปลง อ ที่ ก-(รฺ) เป็น อิ, ลง อิ อาคม ที่ ร, ลบ ณฺ ที่ ณฺย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กร > กิร + อิ = กิริ + ณฺย > ย = กิริย + อา = กิริยา แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ”
“กิริยา” ในบาลีมีความหมายว่า การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป (action, performance, deed; the doing) (ดูเพิ่มเติมที่ : “กิริยา–กริยา” บาลีวันละคำ (396) 15-6-56) และ “กิริยามารยาท” บาลีวันละคำ (601) 7-1-57)
ทุกฺกร + กิริยา = ทุกฺกรกิริยา แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำอันทำได้ยาก” หมายถึง ทำงานที่ทำยาก, ความกระเสือกกระสน, ความลำเค็ญ (doing of a hard task, exertion, austerity)
“ทุกฺกรกิริยา” ใช้ในภาษาไทยตัด กฺ ที่ซ้อนเป็น ทุกฺกร– ออก เป็น “ทุกรกิริยา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทุกรกิริยา : (คำนาม) การกระทํากิจที่ทําได้โดยยาก ได้แก่ การทําความเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ; ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้ง ๒ วางซ้อนที่พระเพลา พระวรกายผ่ายผอมจนเห็นพระผาสุกะ (ซี่โครง). (ป. ทุกฺกรกิริยา).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“ทุกรกิริยา : กิริยาที่ทำได้โดยยาก, การทำความเพียรอันยากที่ใครๆ จะทำได้ ได้แก่ การบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ ด้วยวิธีการทรมานตนต่างๆ เช่น กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะและอดอาหาร เป็นต้น ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติก่อนตรัสรู้ อันเป็นฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค และได้ทรงเลิกละเสียเพราะไม่สำเร็จประโยชน์ได้จริง; เขียนเต็มเป็น ทุกกรกิริยา”
“ทุกรกิริยา” ระวัง อย่าเขียนผิดเป็น ทุกรกริยา ทุกขกริยา ทุกขกิริยา
: ไปทำความดี ต้องลำบากเดินดิน
: มีเกียรติกว่านั่งเครื่องบินไปทำความชั่ว
#บาลีวันละคำ (1,139)
8-7-58