วิเวโก สะปัสสะโม สุโข (บาลีวันละคำ 1,141)
วิเวโก สะปัสสะโม สุโข
บาลีเทียม
สืบเนื่องมาจากผู้มีชื่อท่านหนึ่งในวงการสื่อสาร ยกคำบาลีดังปรากฏข้างต้นนี้มาพูด แล้วแปลแบบคะนองปากประกอบกิริยาที่มีความหมายไปในทางหยาบคาย ก่อให้เกิดเสียงตำหนิติเตียนไปทั่ว
คำบาลีข้างต้นเป็นคำบาลีเทียม (ไม่มีข้อความเช่นนี้ตรงๆ) แต่อาจแปลให้ได้ความหมายในทางดีได้
(๑) “วิเวโก” แปลว่า ความวิเวก, ความโดดเดี่ยว, การแยกออก, การอยู่โดดเดี่ยว ความเดียวดาย, การพินิจพิเคราะห์ (detachment, loneliness, separation, seclusion; singleness of heart, discrimination of thought)
(๒) “สะปัสสะโม” เขียนแบบบาลีเป็น “สปสฺสโม” (สะ-ปัด-สะ-โม) ไม่มีศัพท์รูปนี้ตรงๆ แต่สามารถแยกศัพท์ได้ดังนี้ :
1) ป (ทั่วไป, ทั่วถึง) + สม (ความสงบ), ซ้อน สฺ
: ป + สฺ + สม = ปสฺสม แปลตามศัพท์ว่า “ความสงบอย่างทั่วถึง” หมายถึง ความสงบ, ความเงียบ, ความระงับ, การบรรเทา, การทำให้ลดลง, ความราบรื่น (calm, quiet, appeasement, allaying, assuagement, tranquillizing)
2) ส (ประกอบด้วย, มี) + ปสฺสม = สปสฺสม แปลตามศัพท์ว่า “-มีความสงบอย่างทั่วถึง”
(๓) “สุโข” เป็นคำที่คุ้นปากกันดีแล้ว แปลว่า “เป็นความสุข”
วิเวโก สปสฺสโม สุโข แปลว่า “ความวิเวกที่มีความสงบอย่างทั่วถึง เป็นเหตุให้เกิดสุข”
ผู้กล่าวคำบาลีข้างต้นนี้ยื่นทองเปื้อนคูถมาให้เราด้วยความเขลา
ถ้าเราฉลาด รับเอามาแล้วล้างคูถออกก็จะเห็นทอง
เรารับเอาแต่ทอง ส่วนคูถก็คืนเจ้าของเขาไป
หาความรู้ต่อไปอีก :
คำบาลีเทียมข้างต้น มีบาลีแท้ ว่าดังนี้ :
อนิจฺจา วต สงฺขารา
อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ
เตสํ วูปสโม สุโข.
(อะนิจจา วะตะ สังขารา
อุปปาทะวะยะธัมมิโน
อุปปัชชิต๎วา นิรุชฌันติ
เตสัง วูปะสะโม สุโข.)
แปลว่า –
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
สรรพสิ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
การเข้าไปสงบระงับดับสิ่งทั้งปวงเสียได้ เป็นความสุข.
——–
บาลีบทนี้เป็น “คาถา” ที่พระสงฆ์กล่าวในเวลาพิจารณาผ้าบังสุกุล
บาลีแท้นี้เป็นทองบริสุทธิ์
รับมาประดับใจ ใจก็งาม
: ไม่ควรเอาความงามมาทำให้เป็นความทราม
10-7-58