มาตุ (บาลีวันละคำ 1,144)
-มาตุ
เมื่ออยู่ท้ายคำ อ่านอย่างไร
“มาตุ” บาลีอ่านว่า มา-ตุ รากศัพท์มาจาก –
(1) มานฺ (ธาตุ = รัก, ทะนุถนอม) + ราตุ ปัจจัย, ลบ ร ที่ ราตุ (ราตุ > อาตุ), ลบพยัญชนะที่สุดธาตุและสระ (มานฺ > มา > ม)
: มานฺ > มา > ม + ราตุ > อาตุ = มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ”
(2) ปา (ธาตุ = ดื่ม) + ตุ ปัจจัย, แปลง ป ที่ ปา เป็น ม (ปา > มา)
: ปา + ตุ = ปาตุ > มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม”
“มาตุ” เมื่อใช้เป็นประธานในประโยค เปลี่ยนรูปเป็น “มาตา” คือที่เราแปลงใช้ในภาษาไทยเป็น “มารดา” (ในบาลี เมื่อใดเป็น “มาตา” เมื่อใดเป็น “มาตุ” มีกฎปลีกย่อยอีก)
“มาตุ” เมื่อมีคำอื่นสมาสข้างท้าย อ่านว่า มา-ตุ- เช่น
มาตุคาม อ่านว่า มา-ตุ-คาม (ผู้หญิง, เพศหญิง)
มาตุฆาต อ่านว่า มา-ตุ-คาด (การฆ่าแม่)
มาตุภูมิ อ่านว่า มา-ตุ-พูม (บ้านเกิดเมืองนอน)
แต่ “มาตุ” เมื่ออยู่ท้ายคำ (มีคำอื่นสมาสข้างหน้า) จะอ่านว่าอย่างไร เช่น –
(1) พระวรราชาทินัดดามาตุ
(2) โรงเรียนวิเชียรมาตุ
หลักเทียบ :
๑ ในภาษาไทย เมื่อนำเอาคำบาลีสันสกฤตมาใช้ เรานิยมให้อักษรท้ายคำเป็นตัวสะกด เช่น –
“กาล” บาลีอ่านว่า กา-ละ เราใช้ ล เป็นตัวสะกด อ่านว่า กาน
“คุณ” บาลีอ่านว่า คุ-นะ เราใช้ ณ เป็นตัวสะกด อ่านว่า คุน
แต่ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายก็ออกเสียงพยัญชนะท้ายด้วย (อาจมียกเว้นบางคำ) เช่น –
“กาลเทศะ” อ่านว่า กา-ละ-เท-สะ ไม่ใช่ กาน-เท-สะ
“คุณธรรม” อ่านว่า คุน-นะ-ทำ ไม่ใช่ คุน-ทำ
คำที่สะกดแบบเดียวกับ “มาตุ” เมื่ออยู่ท้ายคำ เราใช้พยัญชนะท้ายเป็นตัวสะกดก็อย่างเช่น –
“เหตุ” อ่านว่า เหด ไม่ใช่ เห-ตุ
“ชาติ” อ่านว่า ชาด ไม่ใช่ ชา-ติ
“เมรุ” อ่านว่า เมน ไม่ใช่ เม-รุ
“เกตุ” อ่านว่า เกด ไม่ใช่ เก-ตุ
“โลกนิติ” อ่านว่า โลก-กะ-นิด ไม่ใช่ โลก-กะ-นิ-ติ
ตามหลักนี้ –มาตุ เมื่ออยู่ท้ายคำ จึงอ่านว่า –มาด ไม่ใช่ –มา–ตุ
ดังนั้น
(1) พระวรราชาทินัดดามาตุ จึงอ่านว่า พฺระ-วอ-ระ-รา-ชา-ทิ-นัด-ดา-มาด (ไม่ใช่ –นัด-ดา-มา-ตุ)
(2) โรงเรียนวิเชียรมาตุ จึงอ่านว่า โรง-เรียน-วิ-เชียน-มาด (ไม่ใช่ –วิ-เชียน-มา-ตุ)
หมายเหตุ :
๑ โรงเรียนวิเชียรมาตุ เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดตรัง ชื่อโรงเรียนนี้เดิมก็อ่านว่า -วิ-เชียน-มาด แต่ต่อมาจะด้วยความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด หรือเพราะอำนาจที่ขาดปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ทางราชการกำหนดให้อ่านชื่อโรงเรียนนี้เป็น –วิ-เชียน-มา-ตุ (อักษรโรมันสะกดว่า Wichienmatu School)
๒ วันที่ 13 กรกฎาคม เป็นวันประสูติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
บาลีวันละคำ ขอถือเป็นโอกาสถวายพระพรด้วยการนำพระนามอิสริยศักดิ์มาคำนึงในทางศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญา
ขออย่าให้มีผู้หนึ่งผู้ใดอ่านพระนามนี้ว่า พฺระ-วอ-ระ-รา-ชา-ทิ-นัด-ดา-มา-ตุ เหมือนโรงเรียนวิเชียรมา-ตุ ที่ผิดกลายเป็นถูกไปแล้วนั้นเลย
บัณฑิต : แม้ผิดก็ใช้ปัญญแก้ไขเยี่ยงปราชญ์
คนพาล : แม้พลาดก็ยังใช้อำนาจเยี่ยงพาล
13-7-58