ปรมาจารย์ (บาลีวันละคำ 1,143)
ปรมาจารย์
ประกอบด้วย ปรม + อาจารย์
(๑) “ปรม”
อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :
(1) ปร (ผู้อื่น) + มุ (ธาตุ = ผูกไว้) + อ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (มุ > ม)
: ปร + มุ > ม + อ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกผู้อื่นไว้ (ด้วยความดี)”
(2) ปร (ผู้อื่น) + มชฺช (ธาตุ = ขัดเกลา, ชำระ) + อ ปัจจัย, ลบ ชฺช ที่สุดธาตุ
: ปร + มชฺช > ม + อ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ขัดเกลาผู้อื่นให้หมดจด”
(3) ปร (ฝั่ง, นิพพาน) + มี (ธาตุ = ไป, ถึง, บรรลุ) + อ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (มี > ม)
: ปร + มี > ม + อ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “คุณเครื่องถึงนิพพาน”
(4) ปร (โลก, โลกหน้า) + มุ (ธาตุ = รู้, กำหนดรู้) + อ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (มุ > ม)
: ปร + มุ > ม + อ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “คุณเครื่องกำหนดรู้โลก”
(5) ปร (คุณความดี) + มิ (ธาตุ = ชั่ง, ตวง, วัด, นับ) + อ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (มิ > ม)
: ปร + มิ > ม + อ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “คุณเครื่องตักตวงความดีไว้”
(6) ปร (ปรปักษ์, ข้าศึก) + มิ (ธาตุ = ทำลาย, เบียดเบียน) + อ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (มิ > ม)
: ปร + มิ > ม + อ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “คุณเครื่องทำลายปรปักษ์”
(ความหมายตามรากศัพท์อื่นๆ ของ “ปรม” ดูเพิ่มเติมที่ : “บรมครู” บาลีวันละคำ (1,142) 11-7-58)
“ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)
“ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น ขี้เกียจบรม บรมขี้เกียจ”
(๒) “อาจารย์”
บาลีเป็น “อาจริย” (อา-จะ-ริ-ยะ) รากศัพท์มาจาก :
(1) อา (ทั่วไป, ยิ่ง, เบื้องต้น, เอื้อเฟื้อ) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ศึกษา, บำเพ็ญ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์” (2) “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น” (3) “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอื้อเฟื้อ” (4) “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง”
(2) อา (แทนศัพท์ว่า “อภิมุขํ” = ข้างหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือพึงดำเนินตาม)
(3) อา (แทนศัพท์ว่า “อาปาณโกฏิ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต”
“อาจริย” สันสกฤตเป็น “อาจารฺย” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “อาจารย์” (อา-จาน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คําที่ใช้เรียกนําหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”
ปรม + อาจารย์ = ปรมาจารย์ เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปรมาจารย์ : (คำนาม) อาจารย์ผู้เป็นเอกหรือยอดเยี่ยมในทางวิชาใดวิชาหนึ่ง.”
ความเห็น :
คำว่า “ปรมาจารย์” พจน.54 บอกคำอ่านไว้ 2 แบบ คือ
๑) ปะ-ระ-มา-จาน
๒) ปอ-ระ-มา-จาน
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอแนะนำว่า ควรอ่านตามเสียงเดิมของ “ปรม”(ปะ-ระ-มะ) คือ ปะ-ระ-มา-จาน
: เป็นคนหัวขี้เท่อ แต่ใจบุญสุนทาน
: ดีกว่าเป็นปรมาจารย์ในทางเลว
12-7-58