ภูมิทัศน์ (บาลีวันละคำ 1,145)
ภูมิทัศน์
อ่านว่า พู-มิ-ทัด
ประกอบด้วย ภูมิ + ทัศน์
(๑) “ภูมิ”
บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย
: ภู + มิ = ภูมิ แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)
ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ภูมิ” เหมือนบาลี ถ้าอยู่ท้ายคำอ่านว่า พูม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า พู-มิ-
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ภูมิ” ในภาษาไทยไว้ว่า แผ่นดิน, ที่ดิน; พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้; สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย
(๒) “ทัศน์”
บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทิสฺ > ทสฺส + ยุ > อน = ทสฺสน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็น” หมายถึง –
(1) การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look)
(2) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)
“ทสฺสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทัศน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา : (คำนาม) ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).”
ภูมิ + ทสฺสน = ภูมิทสฺสน > ภูมิทัศน์ แปลตามศัพท์ว่า “การเห็นพื้นที่”
“ภูมิทัศน์” เป็นคำที่บัญญัติจากคำอังกฤษว่า landscape
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล landscape ว่า ภูมิประเทศ, ภาพภูมิประเทศ
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล landscape เป็นบาลีว่า –
nayanagocara-bhūkhaṇḍa นยนโคจร-ภูขณฺฑ (นะ-ยะ-นะ-โค-จะ-ระ พู-ขัน-ดะ) = บริเวณพื้นที่ที่ตามองเห็น
ตามความเข้าใจของคนทั่วไป เมื่อเอ่ยคำว่า “ภูมิทัศน์” มักหมายถึงบริเวณบางส่วนของพื้นที่ทั้งหมดซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อปรับปรุงตกแต่งให้สวยงามน่าดูน่าชม
คำว่า “ภูมิทัศน์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
: ถ้าอยากให้ดูดี
: ก็อย่าทำเพียงเพื่อให้ดูดี
14-7-58