บาลีวันละคำ

มฤตยู (บาลีวันละคำ 1,146)

มฤตยู

เป็นรูปคำสันสกฤต อ่านว่า มะ-รึด-ตะ-ยู

บาลีเป็น “มจฺจุ” อ่านว่า มัด-จุ

มจฺจุ” รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + จุ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ม)- (มรฺ > ), ซ้อน จฺ

: มรฺ > + จฺ + จุ = มจฺจุ แปลตามศัพท์ว่า “ความตาย” (death)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความ “มจฺจุ” ว่า –

the God of Death, the Buddhist Māra, or sometimes equivalent to Yama (มัจจุราช, ทางพุทธศาสนาเรียกว่า พญามาร บางที่เท่ากับพญายม)

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล death เป็นบาลีไว้ดังนี้ –

(1) maraṇa มรณ (มะ-ระ-นะ) = ความตาย

(2) nidhana นิธาน (นิ-ทา-นะ) = การฝังไว้

(3) cuti จุติ (จุ-ติ) = การเคลื่อน (จากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่ง)

(4) kālakiriyā กาลกิริยา (กา-ละ-กิ-ริ-ยา) = กระทำกาละ (กาละ = ความตาย)

(5) jīvitakkhaya ชีวิตกฺขย (ชี-วิ-ตัก-ขะ-ยะ) = ความสิ้นไปแห่งชีวิต

(6) dehanikkhepa เทหนิกฺเขป (เท-หะ-นิก-เข-ปะ) = การทอดร่าง

(7) maccu มจฺจุ (มัด-จุ) = ความตาย

(8) māra มาร (มา-ระ) = ผู้ทำให้ตาย

มจฺจุ” สันสกฤตเป็น “มฺฤตฺยุ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

มฺฤตฺยุ : (คำนาม) มรณะ; พระยม, ผู้พิพากษาของผู้ตาย; death; Yama, the judge of the dead.”

ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “มฤตยู” (โปรดสังเกต สันสกฤตเป็น —ยุ เรายืดเสียงเป็น —ยู)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มฤตยู : (คำนาม) ความตาย; ชื่อดาวเคราะห์ดวงที่ ๗ ในระบบสุริยะ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อยู่ห่างดวงอาทิตย์ประมาณ ๒,๘๗๐ ล้านกิโลเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๐,๘๐๐ กิโลเมตร, ดาวยูเรนัส ก็เรียก. (ส. มฺฤตฺยู; ป. มจฺจุ).

อภิปราย :

๑ เมื่อ 2-3 วันมานี้ ทางโหราศาสตร์บอกว่า ดาวมฤตยูทับดวงเมือง มีวัดแห่งหนึ่งจัดพิธีเปิดดวง-พลิกฟ้า พลิกแผ่นดิน ให้ชีวิตดีขึ้น ยืนยันว่า “ทำแล้วชีวิตดีขึ้นแน่นอน”

๒ พระพุทธศาสนาพลิกคำสอนให้กลับมาในทางที่ถูกต้องนานนักหนามาแล้วว่า

นกฺขตฺตํ  ปฏิมาเนนฺตํ

อตฺโถ  พาลํ  อุปจฺจคา

อตฺโถ  อตฺถสฺส  นกฺขตฺตํ

กึ  กริสฺสนฺติ  ตารกา.

ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลาผู้มัวถือฤกษ์ถือดาวอยู่

ลงมือทำประโยชน์จนสำเร็จนั่นแหละเป็นฤกษ์ดี

ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้

(นักขัตตชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 49)

: ถ้าคนนำทางมาหลงทางเสียเอง

: โลกก็มีแต่จะวังเวงยิ่งขึ้นทุกวัน

15-7-58

ต้นฉบับ