บาลีวันละคำ

ภัตตุเทศก์ (บาลีวันละคำ 1,151)

ภัตตุเทศก์

ตำแหน่งพระที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

อ่านว่า พัด-ตุ-เทด

บาลีเป็น “ภตฺตุทฺเทสก” อ่านว่า พัด-ตุด-เท-สะ-กะ

ประกอบด้วย ภตฺต + อุทฺเทสก

(๑) “ภตฺต” (พัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ปัจจัย, แปลง ชฺ เป็น ตฺ

: ภชฺ + = ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องเสพ

(2) ภุชฺ (ธาตุ = กลืนกิน, ใช้สอย) + ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น (ภุ > ), แปลง ชฺ เป็น ตฺ

: ภุชฺ + = ภุชต > ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของที่จะพึงกลืนกิน

ภตฺต” หมายถึง อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ, การเลี้ยง (food, nourishment, meal, feeding)

(๒) “อุทฺเทสก” (อุด-เท-สะ-กะ) ประกอบด้วย อุ (ขึ้น) + เทสก

(1) “เทสก” รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = แสดง, ประกาศ) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิส > เทส), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: ทิส > เทส + ณฺวุ > อก : เทส + อก = เทสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกาศ

(2) อุ + เทสก ซ้อน ทฺ : อุ + ทฺ + เทสก = อุทฺเทสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยกเรื่องขึ้นประกาศ

อุทฺเทสก” ในภาษาไทยเขียนเป็น “อุเทศก์” (อุ-เทด)

เสริมความรู้ :

เทศก” กับ “เทศน” มาจากรากศัพท์เดียวกัน คือ ทิสฺ ธาตุ (แสดง, ประกาศ, บอกกล่าว, ชี้แจง)

เทศก : ทิสฺ + ณฺวุ > อก (อะ-กะ) ปัจจัย = เทสก > เทศก แปลว่า ผู้แสดง (- = ผู้-)

เทศน : ทิสฺ + ยุ > อน (อะ-นะ) ปัจจัย = เทสน > เทศน แปลว่า การแสดง (- = การ-)

ภตฺต + อุทฺเทสก = ภตฺตุทฺเทสก > ภัตตุเทศก์

ข้อสังเกต :

ภตฺต” ในภาษาไทย ถ้าเป็นคำเดียว เขียนเป็น “ภัต” (ตัด ออกตัวหนึ่ง) หรือ “ภัตร” (แปลง ตฺต เป็น ตร ทำนองเดียวกับ “ปตฺต” เป็น “บัตร”) ก็ได้

แต่ถ้ามีคำที่ขึ้นด้วยด้วยสระ ( อา อุ อู เป็นต้น) มาสมาสข้างท้าย ต้องคง ไว้ทั้งสองตัว เพื่อให้ ตัวแรกเป็นตัวสะกด และ ตัวหลังเป็นตัวรับเชื่อมกับสระ

: ภัต + อุ- = ภัตตุ- + เทศก์ = ภัตตุเทศก์

ภตฺตุทฺเทสก > ภัตตุเทศก์” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยกภัตขึ้นแสดง” “ผู้ยกอาหารขึ้นประกาศ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า

ภัตตุทเทสกะ : ผู้แจกภัตต์, ภิกษุที่สงฆ์สมมติ คือแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่จัดแจกภัต, นิยมเขียน ภัตตุเทศก์, เป็นตำแหน่งหนึ่งในบรรดาเจ้าอธิการแห่งอาหาร”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภตฺตุทฺเทสก” ว่า one who supervises the distribution of food, a superintendent of meals (ผู้มีหน้าที่ดูแลการแจกอาหาร, ผู้คุมการเลี้ยงอาหาร)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “ภัตตุเทศก์” เป็นอังกฤษว่า –

Bhattuddesaka : one in charge of the distribution of food; an elder who supervises the distribution of food; superintendent of meals; issuer of meals.

ความเป็นมา :

ในครั้งพุทธกาล ภิกษุต้องออกบิณฑบาตเพื่อรับอาหารมาฉันตามแต่จะได้ แต่บางวันมีญาติโยมมานิมนต์ให้ไปรับอาหารที่บ้านเฉพาะราย ในทางปฏิบัติก็คือภิกษุที่ได้รับนิมนต์ไม่ต้องไปบิณฑบาตที่อื่น แต่ไปที่บ้านโยมผู้นิมนต์ โยมจัดอาหารใส่บาตรจนพอแก่ความต้องการ จะฉันที่บ้านโยมเลยก็ได้ หรือจะนำอาหารนั้นไปฉันที่วัดหรือตามที่สะดวกก็ได้ (ทำนองเดียวกับการนิมนต์พระไปสวดมนต์ฉันเช้าหรือฉันเพลในปัจจุบันนี้)

กรณีที่ภิกษุอยู่รวมกันหลายรูป โยมนิมนต์ไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ภิกษุจะต้องหมุนเวียนกันไปตามลำดับอาวุโส หรือบางกรณีโยมนิมนต์เจาะจงบางรูป แต่นิมนต์รูปอื่นๆ โดยไม่เจาะจงด้วย จึงต้องมีภิกษุทำหน้าที่แจ้งการนิมนต์แก่ภิกษุที่ถึงลำดับไปรับอาหาร ภิกษุที่ทำหน้าที่นี้เรียกว่า “พระภัตตุเทศก์” เป็นตำแหน่งที่สงฆ์เป็นผู้มอบหมาย

“พระภัตตุเทศก์” เรียกเพื่อให้เข้าใจง่ายตามภาษาปากทุกวันนี้ก็น่าจะตรงกับคำว่า “ผู้จัดคิว” นั่นเอง ปัจจุบันนี้การแจกกิจนิมนต์ทั่วไปก็เป็นหน้าที่ของพระภัตตุเทศก์ด้วย

ระบบ “พระภัตตุเทศก์” เป็นการเฉลี่ยลาภให้ได้ทั่วถึงแก่ภิกษุที่อยู่รวมกัน ตัดความลำเอียงหรือการเล่นพวกออกไปได้ เป็นทางมาแห่งความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ ตามหลักการแล้ววัดทั่วไปย่อมใช้ระบบนี้

: แบ่งกันกิน ได้กินทุกคน

: แย่งกันกิน (ในที่สุด) อดกินทุกคน

20-7-58

ต้นฉบับ