ราชกิจจานุเบกษา [2] (บาลีวันละคำ 1,150)
ราชกิจจานุเบกษา [2]
อ่านว่า ราด-ชะ-กิด-จา-นุ-เบก-สา
ประกอบด้วย ราช + กิจจ + อนุเบกษา
(๑) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ ญฺ, ยืดเสียง ร เป็น รา
: รญฺช + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังผู้คนให้ยินดีในตน” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
(๒) “กิจจ”
บาลีเขียน “กิจฺจ” (มีจุดใต้ จฺ ตัวแรก) อ่านว่า กิด-จะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ริจฺจ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ กรฺ และ ร ที่ ริจฺจ (ริจฺจ ลบ ร = อิจฺจ)
: กรฺ > ก + ริจฺจ > อิจฺจ : ก + อิจฺจ = กิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงทำ” หมายถึง หน้าที่, การงาน, การบริการ; พิธี, การกระทำ (duty, obligation, service, attention; ceremony, performance)
“กิจฺจ” ในภาษาไทย ปกติตัด จ ออกตัวหนึ่ง ใช้ว่า “กิจ” (กิด) แต่ในกรณีมีคำขึ้นต้นด้วย อ– หรือ อา– มาสมาสข้างท้าย ให้คง จจ ไว้ทั้งสองตัว คือตัวหนึ่งเป็นตัวสะกด อีกตัวหนึ่งให้สระควบ เช่นในคำนี้ กิจ+จ + อนุเบกษา = กิจ+จานุเบกษา
ราช + กิจจ = ราชกิจจ (> ราชกิจ / ราด-ชะ-กิด) แปลว่า “กิจของพระราชา” คือ ธุระของพระราชา, งานที่พระราชาจะต้องทำ, งานที่ผู้บริหารบ้านเมืองจะต้องทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
(๓) “อนุเบกษา”
บาลีเป็น “อนุเปกฺขา” (อะ-นุ-เปก-ขา) ประกอบด้วย อนุ (น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนื่องๆ) + เปกฺขา
(1) “เปกฺขา” รากศัพท์มาจาก ป (ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน) + อิกฺขา (การมอง, การเห็น) แผลง อิ เป็น เอ (อิกฺขา > เอกฺขา)
: ป + อิกฺขา = ปิกฺขา > เปกฺขา แปลตามศัพท์ว่า “มองไปทั่วๆ” “มองไปข้างหน้า” หมายถึง คอยระวังดู (looking out for) คือ เพ่งดู, มุ่งหวัง, ตั้งใจ, ต้องการ (intent upon, wishing)
“เปกฺขา” สันสกฤตเป็น “เปฺรกฺษา” เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “เบกษา”
(2) อนุ + เบกษา = อนุเบกษา มีความหมายว่า เพ่งดูบ่อยๆ, ตั้งใจดูอยู่เสมอ, เอาใจใส่
ราชกิจจ + อนุเบกษา = ราชกิจจานุเบกษา แปลตามศัพท์ว่า “เพ่งดูราชกิจ”
คำว่า “ราชกิจจานุเบกษา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ราชกิจจานุเบกษา : (คำนาม) หนังสือของทางราชการที่ออกเป็นรายสัปดาห์โดยสํานักงานราชกิจจานุเบกษา สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สําหรับลงประกาศเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนประกาศของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ รวมทั้งประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“ราชกิจจานุเบกษา : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) สิ่งพิมพ์ของทางราชการที่จัดให้มีขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อเป็นที่ประกาศข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่ประสงค์จะให้ประชาชนได้ทราบ เช่น กฎหมาย ประกาศคนล้มละลาย การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท.”
พจนานุกรมฉบับของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ราชกิจจานุเบกษาเป็นหนังสือแจ้งข่าวราชการเป็นของรัฐบาล เริ่มออกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401 แล้วหยุดไปคราวหนึ่ง ออกใหม่เมื่อ 17 พฤษภาคม 2417 จนกระทั่งบัดนี้.
: ทำดี ดีทันที ดีเด็ดขาด
: ไม่ต้องรอประกาศในราชกิจจาฯ
19-7-58