บาลีวันละคำ

เครื่องสำอาง (บาลีวันละคำ 1,152)

เครื่องสำอาง

บวชไม่ได้ แต่พาเข้าวัดได้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เครื่องสำอาง : (คำนาม) สิ่งเสริมแต่งหรือบํารุงใบหน้า ผิวพรรณ ผม ฯลฯ ให้ดูงาม เช่น แป้ง ลิปสติก ดินสอเขียนคิ้ว, ราชาศัพท์ว่า เครื่องพระสําอาง; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) วัตถุที่มุ่งหมายสําหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทําด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่าง ๆ ด้วย.”

คำว่า “สำอาง” พจน.54 ให้สะกดอย่างนี้ แต่มักเขียนผิดเป็น “สำอางค์” (มี ค์ การันต์) ทำให้มีผู้อธิบายว่า คำนี้อาจแผลงมาจากบาลีสันสกฤตก็ได้

พาเข้าวัด :

มีผู้เสนอว่า “สำอางค์” อาจมาจาก –

(๑) สุ (ดี, งาม) + องฺค (ตัว, ร่างกาย)

ตามหลักบาลีไวยากรณ์ สุ + องฺค (องค์) นิยมแผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ = สุ > โส แล้วแปลง โอ เป็น อว (อะ-วะ) ต่อไป = โส > สฺว

: สุ > โส > สฺว + องฺค > สฺวงฺค แปลว่า มีร่างกายดี มีรูปร่างงาม

สฺวงฺค > สวังค์ > สวางค์ > สำอางค์

(๒) สํ (พร้อม, บริบูรณ์) + องฺค, แปลงนิคหิตเป็น มฺ

: สํ > สม + องฺค = สมงฺค แปลว่า มีร่างกายสมบูรณ์

สมงฺค > สมังค์ > สมางค์ > สำอางค์

(๓) สม (เรียบ, สม่ำเสมอ, เหมาะสม) + องฺค

: สม + องฺค = สมงฺค แปลว่า มีร่างกายเรียบร้อย, มีร่างกายเหมาะสม

สมงฺค > สมังค์ > สมางค์ > สำอางค์

——-

ยังบวชไม่ได้ :

พจน.54 ไม่ได้บอกว่า “สำอาง” (ไม่มี ค์) มาจากภาษาอะไร

ในภาษาไทยมีคำว่า “สะอาง” แปลว่า งามสะอาดหมดจด เช่น สาวสะอาง สวยสะอาง สะอางองค์

สะอาง” แผลงเป็น “สำอาง” ได้อย่างแน่นอน ดังนั้น “สำอาง” จึงไม่ต้องมี ค์ การันต์

อีกคำหนึ่งคือ “สาง” แปลว่า ทําให้แจ้งให้กระจ่าง เช่น สางคดี, ทําให้หายยุ่ง เช่น สางผม

โดยเฉพาะ “สางผม” เป็นกิริยาที่ทำเพื่อให้ร่างกายดูเรียบร้อย อันเป็นความหมายของ “สำอาง” โดยตรง และ “สาง” ก็แผลงเป็น “สำอาง” ได้ นี่ก็เป็นเหตุผลอีกทางหนึ่งที่ “สำอาง” ไม่ต้องมี ค์ การันต์

ถ้า “สำอาง” มาจาก “สะอาง” หรือ “สาง” เป็นอันถูกต้อง

ถามว่า “สำอางค์” (มี ค์ การันต์) มาได้อย่างไร

นักภาษาไทยตอบว่า เกิดจากแนวเทียบผิด ทำนองเดียวกับ –

อวสาน” มักเขียนผิดเป็น “อวสานต์” เพราะเทียบกับคำที่เป็น –นต์ เช่น สุขศานต์

สถิต” มักเขียนผิดเป็น “สถิตย์” เพราะเทียบกับคำที่เป็น –ตย์ เช่น นิตย์

อนุญาต” มักเขียนผิดเป็น “อนุญาติ” เพราะเทียบกับคำว่า ญาติ

ดังนั้น “สำอาง” จึงมักเขียนผิดเป็น “สำอางค์” เพราะเทียบกับคำที่เป็น –งค์ เช่น องค์ ประสงค์ ทำนองเดียวกับ “จำนง” ที่มักเขียนผิดเป็น “จำนงค์

ข้อคิดจากเครื่องสำอาง :

เครื่องสำอางอาจช่วยให้สวยสด

มีกำหนดชั่วคราวเช้าชั่วสาย

แต่ทานศีลภาวนายาใจกาย

สวยไม่ตายเป็นอมตะชนะมาร

21-7-58

ต้นฉบับ