สารรูป (บาลีวันละคำ 1,165)
สารรูป
น่าจะมาจากไหน
คำว่า “สารรูป” อ่านว่า สา-ระ-รูบ ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ความหมายที่เข้าใจกัน “สารรูป” หมายถึงสภาพภายนอกที่เห็นได้, ภาพปรากฏภายนอก มักใช้ในทางไม่ดีเกี่ยวกับร่างกาย หรือการแต่งตัว เช่น “สารรูปดูไม่ได้” “ไม่ดูสารรูปตัวเอง” หมายถึงเนื้อตัว หน้าตา เสื้อผ้า การแต่งกาย (และหมายรวมถึงความประพฤติด้วย) สกปรกหรือไม่เหมาะสม
คำว่า “สารรูป” ถ้าแยกศัพท์เท่าที่ตามองเห็น ก็คือ สาร + รูป
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(๑) สาร ๑, สาร– ๑ : (คำนาม)
1) แก่น, เนื้อแท้, มักใช้เข้าคู่กับคำ แก่น เป็น แก่นสาร;
2) ข้อความ, ถ้อยคำ, เรื่องราว, เช่น กล่าวสาร สื่อสาร,
3) หนังสือ เช่น นิตยสาร วารสาร,
4) จดหมาย เช่น เขียนสาร สารของนายกรัฐมนตรีถึงเยาวชน.
(๒) รูป, รูป– : (คำนาม)
1) สิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตา เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ,
2) ร่าง เช่น โครงรูป, ร่างกาย เช่น รูปตัวคน รูปตัวสัตว์,
3) เค้าโครง เช่น ขึ้นรูป,
4) แบบ เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปรี รูปไข่;
5) ลักษณนามใช้เรียกพระภิกษุสามเณร เช่น พระรูปหนึ่ง สามเณร ๒ รูป.
6) คําใช้แทนตัวผู้พูด สําหรับพระภิกษุสามเณรพูดกับคฤหัสถ์, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑.
ตามไปดูภาษาบาลี
(๑) “สาร” บาลีอ่านว่า สา-ระ แปลว่า สำคัญ, ประเสริฐยิ่ง, แข็งแรง, ชั้นในที่สุดและส่วนที่แข็งที่สุดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, แก่นหรือแกนของไม้, แก่นสาร, ส่วนสำคัญ, ส่วนที่ดีที่สุด, คุณค่า
(๒) “รูป” บาลีอ่านว่า รู-ปะ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกาศสภาพของตน” (คือสามารถรู้สี สัณฐานเป็นต้นได้ง่าย) และ “สิ่งที่ต้องเสื่อมไป”
ความหมายสามัญที่เข้าใจกันคือ สิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตา, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน, ร่างกาย เช่น รูปตัวคน รูปตัวสัตว์
ตามความหมายของศัพท์เช่นนี้จึงทำให้มีผู้ “ลากเข้าความ” ว่า “สารรูป” หมายถึง แก่นแท้ของสิ่งที่เรามองเห็น
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอว่า “สารรูป” มาจากคำเต็มว่า “สมณสารูป” (สะ-มะ-นะ-สา-รูบ)
“สมณ” แปลว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต
“สารูป” บาลีอ่านว่า สา-รู-ปะ คำนี้เป็น “สารุปฺป” (สา-รุบ-ปะ) ได้ด้วย
โปรดสังเกต “สารูป” กับ “สารุปฺป”
“สา–ป” หัวท้ายตรงกัน ส่วนพยางค์กลาง ร ถ้าเป็นสระ อู –รู– ไม่มี ป สะกด คือคงเป็น สารูป (สระ อู-ป ตัวเดียว) ไม่ใช่ สารูปฺป แต่ถ้าเป็น สระ อุ –รุ– ต้องมี ปฺ สะกด คือเป็น สารุปฺป (สระ อุ-ซ้อน ป) ไม่ใช่ สารุป
“สารูป – สารุปฺป”แปลตามศัพท์ว่า “รูปของตน” หมายความว่า ตนอยู่ในฐานะไหน และมาตรฐาน หรือ “รูป” ของฐานะนั้นมีแค่ไหน ก็ดำรงรูปเช่นนั้นไว้ได้สมฐานะ นี่คือมีสารูป คือมี “รูปของตน”
“สารูป – สารุปฺป” ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ความเสมอกัน (equal state – คือมาตรฐานอยู่แค่ไหน ก็ปรับปรุงพัฒนาตนให้ขึ้นไปเสมอกับมาตรฐานนั้น) ถ้าเป็นคุณศัพท์ หมายถึง เหมาะ, เหมาะสม, สมควร (fit, suitable, proper)
สมณ + สารูป = สมณสารูป มีความหมายว่า ความประพฤติอันสมควรแก่สมณะ
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“สมณสารูป : (คุณศัพท์) ที่สมควรแก่พระ (ใช้แก่กิริยามารยาทเป็นต้น); (คำนาม) กิริยามารยาทเป็นต้นที่สมควรแก่สมณะ เช่น ภิกษุพูดจาควรมีสมณสารูป”
คำเช่นนี้ คำหลักอยู่ที่ “-สารูป” สารูปของใครก็เอาคำนั้นมาเติมเข้าข้างหน้า เช่นในที่นี้คือ สารูปของสมณะ จึงเป็น “สมณสารูป”
คำว่า “สารูป” เมื่อออกเสียง “สา-” ก่อนจะไปถึง “-รูป” จะเกิดเรียง “-ระ-” ระหว่างกลางได้ง่าย “สารูป” จึงกลายเสียงเป็น สา-ระ-รูป
จากคำเต็ม “สมณสารูป” (เมื่อพูดเฉพาะ “-สารูป” ละคำข้างหน้า เช่น สมณ– ไว้ฐานเข้าใจ) กร่อนเหลือเพียง –สารูป และกลายเสียงเป็น สา-ระ-รูป แล้วเขียนเป็น “สารรูป” ในที่สุด
“สารรูป” จึงมีความหมายว่า รูปร่างหน้าตา เสื้อผ้า การแต่งกาย รวมไปถึงกิริยามารยาทและความประพฤติที่ควรจะเหมาะสมตามมาตรฐานของผู้ที่อยู่ในฐานะนั้นๆ
เมื่อพบเห็นใครอยู่ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมตามที่ควรจะเหมาะสม เราจึงมักพูดว่า-สารรูปดูไม่ได้-ดังที่นิยมใช้พูดกัน
: ถึงรูปไม่ดี ก็ขอให้มีสาระ
: ดีกว่ารูปสวยสะ แต่สาระไม่มี
3-8-58