กามารมณ์ (บาลีวันละคำ 1,164)
กามารมณ์
อ่านว่า กา-มา-รม
ประกอบด้วย กาม + อารมณ์
(๑) “กาม”
บาลีอ่านว่า กา-มะ รากศัพท์มาจาก กมฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ก– เป็น อา
: กมฺ + ณ = กม > กาม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ทำให้ปรารถนา” (2) “อาการที่ปรารถนา” (3)“ภาวะอันสัตวโลกปรารถนา”
“กาม” หมายถึง –
(1) ความรื่นรมย์, สิ่งที่ให้ความเพลิดเพลิน, สิ่งที่ให้ความบันเทิงทางกาม (pleasantness, pleasure-giving, an object of sensual enjoyment)
(2) ความสนุกเพลิดเพลิน, การพึงพอใจจากการรู้สึก (enjoyment, pleasure on occasion of sense)
(3) ความใคร่ (sense-desire)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาม, กาม– : (คำนาม) ความใคร่, ความใคร่ทางเมถุน. (ป., ส.).”
(๒) “อารมณ์”
บาลีเป็น “อารมฺมณ” (อา-รำ-มะ-นะ) รากศัพท์มาจาก อา (ทั่ว, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ยุ ปัจจัย, ซ้อน มฺ, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น (ที่ อน) เป็น ณ
: อา + รมฺ = อารม + ม = อารมฺม + ยุ > อน = อารมฺมน > อารมฺมณ แปลตามศัพท์ว่า “อันเป็นที่มายินดี (แห่งจิตและเจตสิก)”
คำว่า “มายินดี” เป็นภาษาธรรม หมายถึงสิ่งที่จิตเข้าไปจับหรือรับรู้ คือเมื่อจิตจับอยู่กับสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นที่ “มายินดี” ของจิต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นที่น่ายินดี (ชอบ) ไม่น่ายินดี (ชัง) หรือเป็นกลางๆ (เฉย) ก็ตาม
“อารมฺมณ” หมายถึง เครื่องยึดหน่วงของจิต, สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ คือที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวที่กระทบกาย และเรื่องที่จิตคิดนึก
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “อารมฺมณ” ในเชิง “ตีความ” ไว้ว่า –
(1) support, help, footing, expedient, anything to be depended upon as a means of achieving what is desired, basis of operation, chance (การสนับสนุน, การช่วยเหลือ, ที่มั่น, ความสะดวก, สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่พึ่งพิงได้เพื่อเป็นหนทางไปสู่เป้าหมาย, ฐานปฏิบัติการ, โอกาส)
(2) condition, ground, cause, means, a cause of desire or clinging to life (เงื่อนไข, พื้นฐาน, ต้นเหตุ, หนทาง, ต้นเหตุของความต้องการหรือความเกี่ยวเกาะอยู่กับชีวิต)
(3) a basis for the working of the mind & intellect (พื้นฐานสำหรับการทำงานของจิตและสติปัญญา. คือเมื่อจิตรับ “อารมฺมณ” เข้ามาแล้วก็ใช้สิ่งนั้นเป็นที่ทำงานต่อไป กล่าวคือชอบบ้าง ชังบ้าง เฉยบ้าง ตามแต่ระดับสติปัญญาจะพาไป)
“อารมฺมณ” ในภาษาไทยใช้ว่า “อารมณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) (คำนาม) สิ่งที่ยึดหน่วงจิตโดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น รูปเป็นอารมณ์ของตา เสียงเป็นอารมณ์ของหู
(2) เครื่องยึดถือเป็นจริงเป็นจัง เช่น เรื่องนี้อย่าเอามาเป็นอารมณ์เลย
(3) ความรู้สึกทางใจที่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้า เช่น อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์ดี อารมณ์ร้าย
(4) อัธยาศัย, ปรกตินิสัย, เช่น อารมณ์ขัน อารมณ์เยือกเย็น อารมณ์ร้อน
(5) ความรู้สึก เช่น อารมณ์ค้าง ใส่อารมณ์
(6) ความรู้สึกซึ่งมักใช้ไปในทางกามารมณ์ เช่น อารมณ์เปลี่ยว เกิดอารมณ์
(7) (คำวิเศษณ์) มีอัธยาศัย, มีปรกตินิสัย, เช่น เขาเป็นคนอารมณ์เยือกเย็น เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน
กาม + อารมฺมณ = กามารมฺมณ > กามารมณ์ แปลตามศัพท์ว่า “อารมณ์ที่น่ายินดี” “มีกามเป็นอารมณ์”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
กามารมณ์ :
1. อารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้แก่กามคุณ ๕ นั่นเอง
2. ในภาษาไทย มักหมายถึงความรู้สึกทางกาม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กามารมณ์ : (คำนาม) กามคุณ, อารมณ์ที่น่าใคร่. (ป. กาม + อารฺมณ).”
ความพอใจหาได้ง่ายๆ : แค่ทำใจให้พอ
2-8-58