บาลีวันละคำ

จาริก – จารึก (บาลีวันละคำ 1,167)

จาริกจารึก

จาริก” บาลีอ่านว่า จา-ริ-กะ มาจากรากศัพท์ว่า จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + ณิก ปัจจัย, ลบ (ณิก > อิก), ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(รฺ) ต้นธาตุตามอำนาจของปัจจัยเนื่องด้วย เป็น อา (– > จา-)

: จรฺ + ณิก > อิก = จริก > จาริก แปลตามศัพท์ว่า “ท่องเที่ยวไป” หมายถึง ท่องเที่ยวไป, ดำเนินชีวิต, ไป, ประพฤติ (wandering wandering about, living, going, behaving)

ในภาษาบาลี “จาริก” มักใช้ควบกับคำกริยา “จรติ” (จะ-ระ-ติ = ท่องเที่ยวไป) เป็น “จาริกํ จรติ” (จา-ริ-กัง จะ-ระ-ติ) แปลว่า เที่ยวจาริกไป (to go on alms-pilgrimage)

จาริก” ใช้ในภาษาไทยเป็น 2 รูป คือ –

(1) “จาริก” อ่านว่า จา-ริก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จาริก : (คำนาม) ผู้ท่องเที่ยวไปเพื่อสั่งสอนหรือแสวงบุญเป็นต้น. (คำกริยา) ท่องเที่ยวไปเพื่อสั่งสอนหรือแสวงบุญเป็นต้น.”

(2) “จารึก” (แผลงสระ อิ เป็นสระ อึ) อ่านว่า จา-รึก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จารึก : (คำกริยา) เขียนหรือจารให้เป็นรอยลึกเป็นตัวอักษรหรือภาพเป็นต้นบนแผ่นศิลา โลหะ หรือดินเป็นต้น, โดยปริยายหมายถึงลักษณะที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น จารึกไว้ในดวงใจ, ในบทกลอนหมายความว่า เขียนโดยทั่ว ๆ ไป ก็มี. (คำนาม) เรียกศิลาที่จารึกเป็นตัวอักษรหรือภาพเป็นต้นว่า ศิลาจารึก, เรียกสั้น ๆ ว่า จารึก เช่น จารึกอโศก จารึกสุโขทัย.”

ข้อสังเกต :

๑ สระ อิ หรือสระ อี ในบาลีแปลงรูปเป็นสระ อึ ในภาษาไทยมีหลายคำ เช่น –

กากณิก (กา-กะ-นิ-กะ) = กากณึก (กา-กะ-หฺนึก. ทรัพย์มีราคาเล็กน้อย)

โชติก (โช-ติ-กะ) = โชดึก (ผู้มีความรุ่งเรือง) (คำเก่าสะกดเป็น-โชฎึก-ก็มี)

ปจฺจนีก (ปัด-จะ-นี-กะ) = ปัจนึก (ข้าศึก, ศัตรู)

ผลิก (ผะ-ลิ-กะ) = ผลึก (แก้วผลึก, ตกผลึก)

อธิก (อะ-ทิ-กะ) = อธึก (ยิ่ง, เกิน, มาก, เพิ่ม, เลิศ)

อนีก (อะ-นี-กะ) = อนึก (กองทัพ)

และ จาริก = จารึก

๒ “จารึก” ในภาษาไทยใช้ในความหมายเดียวกับ “จาริก” ด้วย

: ก่อนทำ คิดให้ทั่ว

: ทำดีทำชั่วเป็นรอยจารึกที่ลบไปออก

9-8-58

ต้นฉบับ