วิตกจริต (บาลีวันละคำ 2,242)
วิตกจริต
อย่าเอามาใช้ผิดๆ แทน “วิตก”
อ่านแบบรักงามว่า วิ-ตก-กะ-จะ-หฺริด
อ่านแบบรักง่าย วิ-ตก-จะ-หฺริด
ประกอบด้วยคำว่า วิตก + จริต
(๑) “วิตก”
บาลีเป็น “วิตกฺก” อ่านว่า วิ-ตัก-กะ รากศัพท์มาจาก วิ (วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ตกฺกฺ (ธาตุ = ตรึก, นึก, คิด) + อ ปัจจัย
: วิ + ตกฺก + อ = วิตกฺก แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ตรึกคิด คือยกสัมปยุตธรรมขึ้นสู่อารมณ์”
(๒) “จริต”
บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ตะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + ต (ปัจจัย) ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย
: จรฺ + อิ + ต = จริต
“จริต” ถ้าใช้เป็นคำนาม แปลว่า ความประพฤติ, การเที่ยวไป, การกระทำ
ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า มีความประพฤติ, มีนิสัย, มีกิริยา (เช่นนั้นเช่นนี้)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“จริต : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น เสียจริต วิกลจริต, มักใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า, ความประพฤติปรกติ, ความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปรกติอยู่ในสันดาน, แนวโน้มของจิตใจ, มี ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต. (ป.).”
ดูเพิ่มเริม: “วิตก–วิตกจริต” บาลีวันละคำ (1,025) 9-3-58
อภิปราย :
เวลานี้มีผู้ใช้คำว่า “วิตกจริต” ผิดความหมายกันมาก เพราะเข้าใจผิดว่า “วิตกจริต” ก็คือ “วิตก”
โปรดเข้าใจเสียให้ถูกต้องว่า “วิตก” กับ “วิตกจริต” มีความหมายคนละอย่างกัน หรือต่างกันโดยสิ้นเชิง
“วิตก” ในภาษาบาลีเป็นคำนาม หมายถึง ความรำพึง, ความคิด, ความตรึกตรอง (reflection, thought, thinking)
“วิตก” ในภาษาไทย เป็นคำกริยา หมายถึง เป็นทุกข์, ร้อนใจ, กังวล (to worry, to be anxious)
ในที่นี้เราใช้ “วิตก” ตามความหมายในภาษาไทย
ส่วน “วิตกจริต” ในภาษาบาลี เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน (one of speculative temperament)
เพื่อความชัดเจน โปรดเปรียบเทียบคำแปลเป็นอังกฤษจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ดังนี้ –
(1) วิตก (Vitakka) : initial application; thought conception; thought.
(2) วิตกจริต (Vitakkacarita) : the discursive; the ruminating-natured; one of speculative temperament.
สรุปว่า ในภาษาไทย “วิตก” เป็นคำกริยา ส่วน “วิตกจริต” เป็นคำนาม และความหมายก็ต่างกัน
โปรดศึกษาความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 –
(1) วิตก, วิตก– : (คำกริยา) เป็นทุกข์, ร้อนใจ, กังวล, เช่น วิตกว่าจะเกิดสงคราม, มักใช้เข้าคู่กับคำกังวล เป็น วิตกกังวล เช่น อย่าวิตกกังวลไปนักเลยพรุ่งนี้สถานการณ์คงจะดีขึ้น.น. ความตรึก, ความตริ, ความคิด. (ป. วิตกฺก; ส. วิตรฺก ว่า ลังเลใจ).
(2) วิตกจริต : (คำนาม) ความเป็นทุกข์กังวล เช่น เขาเกิดวิตกจริตว่าจะตื่นไม่ทันไปสอบ, ความประพฤติที่มีพื้นนิสัยหนักไปในทางคิดฟุ้งซ่าน, เป็นจริต ๑ ในจริต ๖. (ดู จริต). (ป.).
โปรดสังเกตตัวอย่างการใช้คำจากพจนานุกรมฯ
วิตก : วิตกว่าจะเกิดสงคราม
ไม่ใช่ – วิตกจริตว่าจะเกิดสงคราม
วิตกจริต : เขาเกิดวิตกจริตว่าจะตื่นไม่ทันไปสอบ (โปรดสังเกตว่ามีคำว่า “เกิด” เป็นกริยา)
ไม่ใช่ – เขาวิตกจริตว่าจะตื่นไม่ทันไปสอบ
เป็นที่น่าสังเกตว่า คนสมัยนี้มักไม่เปิดใจรับรู้อะไรทั้งสิ้น ใครจะอธิบายหลักวิชาอะไรไว้ที่ไหนอย่างไร ชี้ผิดชี้ถูกไว้อย่างไร ไม่รับรู้ทั้งนั้น ถึงเวลาใช้ถ้อยคำภาษา ก็ใช้ไปตามที่ตนเข้าใจอยู่นั่นแล้ว ใช้คำผิดๆ ก็ใช้ผิดเช่นนั้นไปตลอดชาติ แก้ไม่ไป ไขไม่เป็น
นับว่าเป็นลักษณะนิสัยที่แปลกประหลาดอย่างหนึ่งของคนไทยสมัยนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: นักเขียนไม่รู้จักใช้คำ ข้อความก็สับสน
: ผู้มีอำนาจไม่รู้จักใช้คน บ้านเมืองก็เสื่อมสูญ
#บาลีวันละคำ (2,242)
2-8-61